คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9598/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ซึ่งโจทก์อุทธรณ์รับว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันกระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 และ อ.1548/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเช่นเดียวกันกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายต่างรายกันเป็นเจ้าของงานดนตรีกรรม ดังนั้น การที่จำเลยนำงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและผู้อื่นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมคาราโอเกะที่เป็นตัวหนังสือของเนื้อเพลงและทำนองเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและของผู้อื่นหลายรายให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดให้บริการแก่ลูกค้า อันเป็นความประสงค์ที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพียงอย่างเดียวเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า การที่มีลูกค้ามาเปิดเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกันจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 ซึ่งเป็นคดีก่อนแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีก่อนจึงระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่างๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป (1981) จำกัด ผู้เสียหาย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรมทั้งคำร้องและทำนองและงานสิ่งบันทึกเสียงที่บันทึกดนตรีกรรมเพลง “ขี้เหล่ก็รัก” เพลง “ฝนเดือนหก” และเพลง “มนต์เมืองเหนือ” เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เวลากลางวัน จำเลยนำเพลงของผู้เสียหายดังกล่าวซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ไปทำซ้ำโดยได้นำคำร้อง ทำนอง และหรือภาพและเสียงเพลงเล่นประกอบดนตรีดังกล่าวบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซีพียู) ที่บรรจุโปรแกรมคาราโอเกะ ที่เป็นตัวหนังสือของเนื้อเพลงและทำนองที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วเปิดให้บริการในลักษณะเพลงคาราโอเกะแก่ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการภายในร้านบูลสตาร์ คาราโอเกะ ของจำเลย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าและหากำไร โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย จำเลยรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 และ อ.1548/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 และ อ.1548/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ซึ่งโจทก์อุทธรณ์รับว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันกระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 และ อ.1548/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเช่นเดียวกันกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายต่างรายกันเป็นเจ้าของงานดนตรีกรรม ดังนั้น การที่จำเลยนำงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและผู้อื่นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมคาราโอเกะที่เป็นตัวหนังสือของเนื้อเพลงและทำนองเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและของผู้อื่นหลายรายให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดให้บริการแก่ลูกค้า อันเป็นความประสงค์ที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพียงอย่างเดียวเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า การที่มีลูกค้ามาเปิดเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกันจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกันเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1547/2557 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1549/2557 ซึ่งเป็นคดีก่อนแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีก่อนจึงระงับไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share