แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 4 เป็นตัวการ อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการตัวแทนตามมาตรา 427 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ปัญหานี้จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยายนต์คันหมายเลขทะเบียน กษย 116 ราชบุรี ของจำเลยที่ 4 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ไปตามถนนในหมู่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลคุ้งพะยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กวล 647 ราชบุรี ของนายสมาน บิดาโจทก์ซึ่งขับสวนทางมาเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของบิดาโจทก์ได้รับความเสียหายและบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย 38,430 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 146,300 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 6,740 บาท ค่าจ้างรถบรรทุกศพ 2,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ 96,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 289,470 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมาน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่เคยมีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 วันเกิดเหตุนางสาวอัมพร ขอยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ขับไปทำธุระ จนกระทั่งเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้น แต่อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความประมาทของนายสมาน มิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 3,000 บาท โจทก์ไม่ได้เสียค่าจ้างรถบรรทุกศพ โจทก์ไม่ได้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนายสมานจึงไม่สามารถเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูของนายสมานจึงไม่สามารถเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 90,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อนายสมาน บิดาโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 จะไม่มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างโดยตรง แต่กรณีที่จำเลยที่ 4 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นำอาหารไปให้มารดาของตนเองนั้น เป็นลักษณะตัวการตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 1 ตัวแทนกระทำละเมิดจำเลยที่ 4 ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งลเมิดนั้นด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กษย 116 ราชบุรี จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปกระทำละเมิดต่อบิดาโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 อันเป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 หาได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 4 เป็นตัวการ อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการตัวแทนตามมาตรา 427 แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทน จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหานี้จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยตามบทกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ