แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกฐานรับของโจรครั้งที่สองฐานลักทรัพย์ เมื่อจำเลยพ้นโทษครั้งที่ 2 ไปแล้วภายในเวลา 10 ปี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานลักทรัพย์ จนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือนอีก ความผิดของจำเลยเหล่านี้ ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกันกับที่ระบุไว้ในมาตรา 41 (8) ทั้งสิ้น จึงเข้าเกณฑ์ที่ศาลจะให้กักกันได้
จำเลยทำการลักทรัพย์ 2 ราย ในเวลาห่างกันราว 1 เดือน ทั้งเป็นความผิดที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราของมาตรา 335 ตั้งแต่ 2 อนุมาตราขึ้นไป คือ (1) (7) (11) ดังนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย สมควรที่ให้กักกันจำเลย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองบังอาจสมคบร่วมกัน ต่างกรรมต่างวาระโดยลักไดนาโมชาร์ตของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ไป ๒ ครั้ง เป็นจำนวน ๒ ลูก ราคา ๕,๒๐๐ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) (๑๑) มาตรา ๙๑ และ ๘๓ ก่อนคดีนี้จำเลยที่ ๑ เคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง ตามประวัติแจ้งโทษท้ายฟ้อง และภายในเวลา ๑๐ ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นโทษ จำเลยได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ในคดีนี้อีกเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัย ขอให้เพิ่มโทษและกักกันจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ และมาตรา ๔๑ ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ชั่วคราว เพื่อให้โจทก์ฟ้องใหม่ภายใน ๗ วัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) (๑๑) ความผิดแต่ละกรรมโทษหนักเท่ากัน ลงโทษแต่กรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ให้จำคุก ๓ ปี เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๒ หนึ่งในสาม เป็นจำคุก ๔ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี เมื่อพ้นโทษแล้วให้กักกันจำเลยไว้ตามมาตรา ๔๑ มีกำหนด ๓ ปี และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๕,๒๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ขอให้ยกโทษกักกัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า เมื่อจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ไม่กักกันจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อัยการโจทก์ฎีกาขอให้กักกันจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนมาแล้ว ครั้งแรกถูกลงโทษจำคุก ๖ เดือน ฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ ประกอบด้วยมาตรา ๗๘ ครั้งที่ ๒ จำคุก ๒ ปี ๓ เดือน ลด ๑ ใน ๕ ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ประกอบด้วยมาตรา ๙๓ และมาตรา ๗๘ ซึ่งจำเลยกระทำผิดในขณะที่จำเลยมีอายุเกิน ๑๗ ปีแล้วทั้งสองครั้ง เมื่อจำเลยพ้นโทษครั้งที่ ๒ ไปแล้วภายในเวลา ๑๐ ปี จำเลยมากระทำผิดฐานลักทรัพย์มาตรา ๓๓๕ ในคดีนี้ จนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า ๖ เดือนอีก ความผิดของจำเลยเหล่านี้ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๑ (๘) ทั้งสิ้น อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะให้กักกันได้ เฉพาะคดีนี้จำเลยยังทำการลักทรัพย์ถึง ๒ รายในเวลาห่างกันราว ๑ เดือนเท่านั้น ทั้งเป็นความผิดที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราของมาตรา ๓๓๕ ตั้งแต่ ๒ อนุมาตราขึ้นไป คือ อนุมาตรา (๑) (๗) และ (๑๑) อีกด้วย เห็นได้ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย สมควรที่ให้กักกันจำเลยด้วย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อกักกัน เป็นว่าให้กักกันจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์