คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อการที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วนเพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้ และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริง จึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริง และแก่ธนาคารออมสิน การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 266(4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ เงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 342(1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งมาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยผิดมาตรา 264 อีกกระทงหนึ่งนั้น แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบท คือบังอาจนำตั๋วแลกเงินเพื่อเดินทาง ๓ ฉบับมีนายเพิ่มศักดิ์เป็นผู้ทรงหรือผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้แก่นางสมจิต ภาคพิเศษ ไปแสดงขอรับเงินจากนางพนิดาผู้จัดการธนาคารออมสิน โดยจำเลยแสดงตนอันเป็นเท็จว่า จำเลยคือนางสมจิต ภาคพิเศษ นางพนิตา บุตรขัน หลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลย ๓,๐๐๐ บาท และต่อมาในขณะนั้นเอง จำเลยบังอาจเขียนลายมือชื่อนางสมจิต ภาคพิเศษ ปลอมลงในตั๋วแลกเงินทั้ง ๓ ฉบับ น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารออมสิน นางพนิดา นายเพิ่มศักดิ์ นางสมจิต นางพนิดาหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อแท้จริง ได้จ่ายเงิน ๓,๐๐๐ บาทให้จำเลยไปดังกล่าวข้างต้น ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๔,๒๖๖,๓๔๒ ให้คืนหรือใช้เงิน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาเห็นว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง แต่ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ พิพากษาว่าจำเลยผิดตามมาตรา ๓๔๒(๑) จำคุก ๑ ปี ให้คืนหรือใช้เงิน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ และ๒๖๖
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดตามมาตรา ๒๖๔ อีกกระทงหนึ่ง จำคุกสำหรับกระทงนี้ ๑ ปี รวมเป็น ๒ ปี นอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๖ ด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า การรับเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น นอกจากผู้ทรงจะต้องนำตั๋วแลกเงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๔๑ แล้ว ตามมาตรา ๙๔๕ การใช้เงินจะเรียกเอาได้ต่อเมื่อได้เวนตั๋วแลกเงินให้ ผู้ใช้เงินจะให้ผู้ทรงลงลายมือชื่อรับเงินในตั๋วแลกเงินนั้นก็ได้ ทางพิจารณาได้ความว่า ผู้ที่จะรับเงินตามตั๋วแลกเงินจะต้องได้ลงลายมือชื่อของผู้ที่ปรากฎชื่อตามตั๋วแลกเงินนั้นสลักหลังลงในตั๋วต่อหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน แสดงว่า ได้รับเงินไปแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจึงจะจ่ายเงินให้ ฉะนั้น การทีจำเลยลงลายมือชื่อนางสาวสมจิตปลอมลงในตั๋วแลกเงิน จึงเป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อให้เอกสารนี้สมบูรณ์ครบถ้วนเพื่อที่เจ้าพนักงานจะจ่ายเงินให้ และเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริง จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ย่อมเห็นได้ชัดว่า เป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสาวสมจิตผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริง และแก่ธนาคารออมสิน การกระทำของจำเลยต้องด้วยลักษณะที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๖(๔)ด้วย แต่ไม่เป็นผิดหลายกระทง เพราะการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วแลกเงิน ก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ เงิน ๓,๐๐๐
บาท อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั่นเอง ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยผิดตามมาตรา ๒๖๔ อีกกระทงหนึ่งแม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยผิดตามมาตรา ๓๔๒(๑) และ ๒๖๖(๔) ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๖(๔) ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี นอกนั้นยืน

Share