คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรมจะไม่ได้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 วรรคสอง ด้วยก็ตาม หากมีข้อความตอนท้ายของพินัยกรรมปรากฏชัดว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานเป็นสำคัญและผู้เขียนได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เขียนพินัยกรรมต่อจากลายมือชื่อของพยานรับรองพินัยกรรมแล้ว ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบว่าผู้เขียนอยู่ในฐานะพยานด้วยหรือไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางนาง จินนะ พี่สาวโจทก์วายชนม์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2505 มีทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาท เพราะนางนางไม่มีบุตรจำเลยไม่ใช่ทายาทโดยธรรมได้ยื่นคำร้องต่ออำเภอขอรับมรดกรายนี้ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิรับมรดกรายนี้ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป

จำเลยให้การว่า ก่อนตายนางนางได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์อันดับ1, 2, 3 ตามบัญชีท้ายฟ้องให้แก่จำเลย ๆ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องทรัพย์อันดับ 4 ยุ้งข้าวเป็นของจำเลยปลูกสร้างขึ้นมิใช่มรดก

คู่ความตกลงกันว่า ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงประเด็นเดียวว่าเอกสารท้ายคำให้การซึ่งจำเลยว่าเป็นพินัยกรรมนั้นเป็นพินัยกรรมสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ตกเป็นหน้าที่จำเลยนำสืบก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า พยานที่ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมมีเพียงนายสา ผู้เดียวซึ่งถือว่าเป็นพยานได้ ส่วนนายบัวผา เพชรกัณหานั้น ระบุว่าเป็นผู้เขียนเท่านั้นไม่ใช่พยานในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงไม่สมบูรณ์ พิพากษาว่าทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นมรดกของนางนาง จินนะ ตกได้แก่โจทก์ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์พิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าลักษณะการลงนามของนายบัวผาอยู่ในฐานะพยานด้วยหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น สืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ตามพินัยกรรมที่จำเลยอ้างปรากฏว่านางนาง ผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์มือต่อหน้าพยาน 2 คน คือนายเทืองและนายสา และต่อท้ายด้วยลายมือชื่อนายบัวผา เพชรกัณหา ผู้เขียนพินัยกรรม แต่นายเทือง พยานในพินัยกรรมได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือจึงเหลือนายสา เป็นพยานรับรองลายมือนางนางในพินัยกรรมเพียงคนเดียวมีปัญหาว่าควรจะให้จำเลยนำสืบว่านายบัวผา เพชรกัณหา ผู้เขียนพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายมือและเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671จะบัญญัติว่า ถ้าผู้เขียนพินัยกรรมเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อเช่นเดียวกับพยานอื่นก็ดีความมุ่งหมายสำคัญของมาตรานี้คือ ให้มีข้อความแสดงว่าผู้เขียนพินัยกรรมเป็นพยานรู้เห็นด้วยเช่นเดียวกับพยานอื่นเท่านั้น หากมิได้ระบุไว้ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะ เพราะไม่มีบทบัญญัติระบุว่าการทำไม่ถูกต้องตามมาตรานี้เป็นโมฆะดังเช่นการทำไม่ถูกต้องตามมาตราอื่น ๆ ในพินัยกรรมฉบับนี้ก็ได้มีข้อความตอนท้ายของพินัยกรรมปรากฏชัดว่า ผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานเป็นสำคัญและนายบัวผาก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เขียนพินัยกรรมต่อจากลายมือชื่อของพยานรับรองพินัยกรรมด้วย การลงลายมือชื่อของนายบัวผาอยู่ในฐานะพยานด้วยหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบต่อไปได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share