คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 957/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของที่ดินได้ฟ้องโจทก์กับจำเลยขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยอ้างว่าที่ดินเป็นของเขา จำเลยไม่มีอำนาจเอาไปขายให้แก่โจทก์ ถ้าหากโจทก์เห็นว่า เจ้าของที่ดินเชิดจำเลยเป็นตัวแทนขายที่ดินให้โจทก์ๆก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีนั้นได้ แต่โจทก์มิได้ยกประเด็นข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ เมื่อศาลพิพากษาให้เจ้าของที่ดินชนะคดีไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องเจ้าของที่ดินขอให้รับผิดในการที่เชิดจำเลยเป็นตัวแทนมาขายที่ดินนั้นแก่โจทก์ และขอให้เพิกถอนคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นเสียดังนี้ ได้ชื่อว่ารื้อฟื้นคดีที่ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วมาว่ากล่าวกันใหม่ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
การที่ผู้ซื้อที่ดินจะได้กำไรจากการนำที่ดินนั้นไปขายต่อให้แก่ผู้อื่นนั้น มิใช่เป็นวิสัยธรรมดา อันพึงบังเกิดจากการผิดสัญญาซื้อขาย เป็นเหตุให้ผู้ซื้อไม่ได้กำไรจากการขายต่อไปนั้น ย่อมถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง ซึ่งถ้าผู้ขายได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าแล้วผู้ขายจึงจะต้องรับผิด ถ้าผู้ซื้อนำสืบไม่ได้ว่าผู้ขายได้รู้หรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าแล้ว ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายพิเศษนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน หรือปล่อยให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทน ทำสัญญาจะขายนาพิพาทให้แก่โจทก์ แล้วบิดพลิ้วจนโจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาล ๆ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทให้ผู้มีชื่อราคา 10,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เสีย ดังปรากฏตามคดีแพ่งแดงที่ 232/2492 โจทก์จึงต้องคืนเงินราคาซื้อที่ดินให้แก่ผู้รับซื้อไปฉะนั้นจึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหาย คือเงินค่าธรรมเนียมในคดี 2 เรื่องที่กล่าวแล้วและเงินค่าที่ดินที่ผู้มีชื่อจะซื้อจากโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำ และสำหรับจำเลยที่ 2 ก็เห็นว่าไม่ต้องรับผิดเงิน 10,000 บาท ฯลฯ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 9,500 บาทแก่โจทก์ นอกนั้นยืน

โจทก์กับจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในสำนวนคดีแดงที่ 232/2492 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า ที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจเอาไปขายให้แก่โจทก์นั้น ถ้าหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนขายที่ดินให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แล้ว โจทก์ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นประเด็นในคดีนั้นได้ แต่โจทก์มิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ ฉะนั้น การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์แล้วนั้น จึงได้ชื่อว่ารื้อฟื้นคดีที่ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว มาว่ากล่าวกันใหม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ส่วนสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จะได้กำไร จากการนำที่ดินไปขายให้แก่ผู้อื่นนั้นมิใช่เป็นวิสัยธรรมดาอันพึงบังเกิดจากการผิดสัญญาซื้อขาย ฉะนั้นค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในกรณีนี้จึงเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากกรณีพิเศษ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้หรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้า ฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย 9,500 บาท ฯลฯ

Share