คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ลงบัญชีย่อยหรือลูกหนี้อื่น ๆ ชื่อบัญชีบริษัท ฟ. รับรู้รายได้ในเดือนสิงหาคม ตุลาคม และพฤศจิกายน 2532 รวมเป็นเงิน 2,879,913 บาทเท่ากับค่าจ้างทำของที่โจทก์ได้ทำสัญญาตกแต่งภายในให้แก่บริษัท ฟ. หากต่อมาโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จและถูกยกเลิกสัญญาจ้าง โดยมีเงินที่บริษัท ฟ. ยังไม่ได้ชำระให้โจทก์ก่อนบอกเลิกสัญญาจำนวน 1,286,488 บาทจริง โจทก์จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปรับปรุงลดยอดรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ที่โจทก์รับรู้รายได้ไว้แล้ว มิใช่นำไปปรับปรุงลดยอดรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ที่โจทก์มิได้รับรู้รายได้ไว้ อันเป็นการลงบัญชีที่ขัดกับหลักการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65
โจทก์ให้บริษัทในเครือของโจทก์กู้เงินในปี 2534 จำนวน 121,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี โดยยกยอดเงินกู้มาจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 จำนวน 60,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินทุนของโจทก์ มิใช่เงินที่โจทก์ไปกู้บุคคลอื่นมา ส่วนอีกจำนวน 61,000,000 บาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนของโจทก์ส่วนหนึ่งและเงินที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในส่วนเงินจำนวน 61,000,000 บาท เป็นกรณีที่โจทก์ให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด แม้บริษัทที่กู้ยืมจะเป็นบริษัทในเครือ แต่การที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 13 ถึง 17 ต่อปี มาให้กู้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 10 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือบริษัทในเครือให้มีกำไรย่อมเป็นเหตุไม่สมควรเพราะมิใช่ปกติวิสัยของผู้ทำการค้าทั่วไป การที่เจ้าพนักงานประเมินคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15.495 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยที่โจทก์ไปกู้บุคคลอื่นมา จึงชอบแล้ว
ป. รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการตามมาตรา 68 หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องรับผิดตามมาตรา 67 ตรี โดยต้องเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี จึงถือได้ว่าการฝ่าฝืนมาตรา 67 ทวิ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ทั้งเป็นเรื่องของการประมาณการซึ่งหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อมีการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และมาตรา 69 ตอนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี กรณีจึงมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินภาษีเพิ่มตามที่ตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ลงบัญชีย่อยหรือลูกหนี้อื่น ๆ ชื่อบัญชีบริษัทฟาร์อีส แอ็ดเวอร์ไทซ์ซิ่ง จำกัด รับรู้รายได้ในเดือนสิงหาคม ตุลาคม และพฤศจิกายน 2532 รวมเป็นเงิน 2,879,913 บาท เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ตกลงทำสัญญาตกแต่งภายในให้แก่บริษัทดังกล่าว หากต่อมาโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จและถูกยกเลิกสัญญาจ้าง โดยมีเงินที่บริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ชำระก่อนบอกเลิกสัญญาจำนวน 1,286,488 บาท จริง โจทก์จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปรับปรุงลดยอดรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 ที่โจทก์รับรู้รายได้ไว้แล้ว มิใช่นำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงลดยอดรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ที่โจทก์มิได้รับรู้รายได้ไว้ อันเป็นการลงบัญชีที่ขัดกับหลักการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65
โจทก์ให้บริษัทในเครือกู้ในปี 2534 จำนวน 121,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี โดยยกยอดเงินกู้มาจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 จำนวน 60,000,000 บาท เงินที่ให้กู้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินทุนของโจทก์มิใช่เงินที่โจทก์ไปกู้บุคคลอื่นมา ส่วนอีกจำนวน 61,000,000 บาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนของโจทก์ส่วนหนึ่งและเป็นเงินที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในส่วนเงินทุนหมุนเวียนและเงินที่โจทก์ไปกู้สถาบันการเงินอื่นมาให้บริษัทในเครือของโจทก์กู้ในปี 2534 จำนวน 61,000,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด แม้บริษัทที่กู้ยืมเงินโจทก์จะเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ แต่การที่โจทก์ไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาในอัตราร้อยละ 13 ถึง 17 ต่อปี แล้วมาให้บริษัทในเครือกู้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 10 ต่อปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทในเครือให้มีกำไรนั้น ย่อมเป็นเหตุไม่สมควรเพราะมิใช่ปกติวิสัยของผู้ทำการค้าทั่วไป เมื่อเจ้าพนักงานประเมินคำนวณอัตราดอกเบี้ยโจทก์ร้อยละ 15.495 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยที่โจทก์ไปกู้บุคคลอื่นมานั้นจึงชอบแล้ว
ป. รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการตามมาตรา 68 หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็จะต้องรับผิดตามมาตรา 67 ตรี ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงถือได้ว่าการฝ่าฝืนมาตรา 67 ทวิ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว ทั้งเรื่องของการประมาณการและหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันที เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่ง ป. รัษฎากร เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี กรณีจึงมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินภาษีเพิ่มตามที่ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต. 1/2008332/2/100032 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 390/2541 สภ. 1 (กม. 3) ลงวันที่ 5 มกราคม 2541 เฉพาะเบี้ยปรับจำนวน 1,100,808.95 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.

Share