แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,075,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 6 เดือน และไม่เกิน 75,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ครอบครอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นางจันทนา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองสำนวนรวม 12,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของนายแสนดี ผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนจันทน์ และเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนจันทน์ จำนวนเงินฉบับละ 500,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องตั้งรูปคดีว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1734 ซึ่งบัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ