คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5970/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติ การหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในข้อใดเลยว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เมื่อหนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นหนี้เงินและต่างถึงกำหนดที่จะชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ให้ความยินยอม
ที่โจทก์อ้างว่า หนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่นั้น หนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่อันไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 นั้น หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด แต่จากคำให้การของโจทก์ในคดีของศาลแพ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์และ ส. ชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 71,243,224.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,788,981.59 บาท โจทก์ให้การรับว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,230,760.80 บาท โดยโต้แย้งเพียงการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวแสดงว่า ในยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ 670,805.64 บาท เป็นหนี้ส่วนที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แล้ว จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามจำนวนนั้นได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 741,698.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 549,858.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 670,805.64 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 549,858.04 บาท นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกานี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประเภทเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 264 – 2 -01193 – 6 จำนวนเงิน 468,000 บาท ไว้กับจำเลยที่ 1 สาขาลาดกระบัง แล้วทำสัญญาตกลงมอบเงินฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนายศิโรจน์ และนางมาลีตามสัญญามอบเงินฝากเป็นประกัน ก่อนหน้านั้นโจทก์และนางสินีนาถทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลยที่ 1 สาขาลาดกระบัง วงเงิน 20,000,000 บาท โดยโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมานายศิโรจน์และนางมาลีชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ส่วนบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่เป็นประกันยังไม่มีการถอนเงินออกจากบัญชี เมื่อครบกำหนดการฝากเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวแต่ละครั้งจำเลยที่ 1 จะนำดอกเบี้ยเงินฝากทบเข้าเป็นต้นเงินและถือเป็นยอดเงินฝากใหม่ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดมา มีเงินต้นในบัญชี 670,805.64 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไปยังโจทก์และนางสินีนาถ แล้วฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลแพ่งเพื่อให้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจะดำเนินการหักเงินในบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์เพื่อหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แล้วจำเลยที่ 1 หักเงินในบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย 670,805.64 บาท ชำระหนี้โดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอมก่อน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมในการหักกลบลบหนี้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงเรื่องการหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในข้อใดเลยว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เมื่อหนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันคือเป็นหนี้เงินและต่างถึงกำหนดที่จะชำระแล้วดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ให้ความยินยอม ส่วนที่โจทก์อ้างว่าหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ยังเป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่นั้น เห็นว่า หนี้ที่มีข้อต่อสู้อยู่อันไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 นั้น หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อความรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด แต่จากคำให้การของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ธ. 24308/2542 ของศาลแพ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์และนางสินีนาถชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี 71,243,224.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 62,788,981.59 บาท นั้น โจทก์ให้การรับว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,230,760.80 บาท โดยโต้แย้งเพียงการคิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว ดังนี้แสดงว่าในยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ 670,805.64 บาท เป็นหนี้ส่วนที่โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ แล้ว จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามจำนวนนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share