คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9552/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในฐานะผู้ขาย โดยไม่มีข้อความใดที่สื่อความหมายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลผูกพันและบังคับได้เฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอยู่ด้วยในขณะทำสัญญาและจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยาน ก็หาใช่คู่สัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาได้
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยประเด็นค่าเสียหายให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะศาลไม่ได้คำนึงถึงความเจริญของที่ดินซึ่งเป็นเหตุให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาพิจารณากำหนดค่าเสียหาย ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์เคยยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยเรื่องที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 19766 และ 26424 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการโอน หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 หากไม่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 1,986,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 435,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท เฉพาะค่าพาหนะและค่าป่วยการในการส่งหมายให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นพับ ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำของบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามสัญญานั้น ระบุว่าคู่สัญญาฝ่ายผู้ซื้อ คือ โจทก์ ส่วนคู่สัญญาฝ่ายผู้ขาย คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์และข้อสัญญาทุกข้อซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ขายล้วนบังคับแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้ขายโดยไม่มีข้อความใดสื่อความหมายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เท่ากับโจทก์ประสงค์จะบังคับแก่จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว จึงเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันและบังคับกันได้เฉพาะโจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอยู่ด้วยในขณะทำสัญญาโดยจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา ก็หาใช่คู่สัญญากับโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นการสมคบกันโดยมีเจตนาไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 มีความผูกพันตามสัญญาจะต้องขายให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทนกันจริง แต่โจทก์นำสืบในประเด็นนี้เพียงว่า การชำระเงินค่าซื้อที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการชำระเงิน โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาเป็นข้อสนับสนุน จึงเป็นการนำสืบลอย ๆ ที่ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ไม่สมแก่คำฟ้อง กลับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งมีนายบุรฉัตร เจ้าหน้าที่ธนาคารผู้รับจำนองที่ดินพิพาทมาเบิกความยืนยันว่า มีการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินโดยผู้ซื้อจากจำเลยที่ 1 ชำระเงินไถ่ถอนจำนองจำนวน 1,276,415 บาท ตามใบรับชำระหนี้เงินกู้ และเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 จำนวน 850,000 บาท ตามสมุดเงินฝาก ซึ่งตามรายการนำฝากเป็นวันเดียวกับที่มีการซื้อขายที่ดินพิพาท และปรากฏว่าในการซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรให้แก่กรมที่ดินรวมทั้งสิ้น 70,506 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน เมื่อรวมเงินทั้ง 3 รายการดังกล่าวแล้วเป็นเงินประมาณ 2,200,000 บาท ใกล้เคียงกับราคาซื้อขายที่ดินพิพาทตามทางนำสืบของจำเลยที่ 4 และที่ 5 นอกจากนี้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยังมีหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในวันและก่อนวันซื้อขายที่ดินพิพาทรวม 2 รายการ เป็นเงิน 1,500,000 บาท และ 600,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 4 และที่ 5 นำสืบว่าใช้เงินที่ได้มาจากการค้าขาย จึงเป็นการนำสืบที่มีพยานหลักฐานสนับสนุนเด่นชัด คดีจึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่าได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจำนวน 2,299,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 จริง ทั้งปรากฏว่าก่อนตัดสินใจซื้อจำเลยที่ 4 ได้ลงพื้นที่ไปตรวจดูสภาพที่ดินพิพาทแล้ว ไปติดต่อธนาคารผู้รับจำนองเพื่อตรวจสอบว่ามีการจำนองจริงหรือไม่ รวมทั้งไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 4 และที่ 5 สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลโจทก์จริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 4 จะต้องยุ่งยากไปดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความจริงเกี่ยวกับที่ดิน จึงเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ซื้อโดยสุจริตที่ต้องระมัดระวังผลประโยชน์ของตนเสียยิ่งกว่า แสดงว่า การซื้อที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นการซื้อขายโดยมีค่าตอบแทนกันจริง มิใช่ซื้อขายโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามที่โจทก์ฟ้อง โดยเฉพาะเงินค่าซื้อขายที่ดินที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องจ่ายให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวนมาก หากจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันตามสัญญาจะต้องขายที่ดินพิพาทให้โจทก์อยู่ก่อน อันจะเป็นผลให้การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องถูกเพิกถอนได้ในภายหลัง จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็คงไม่กล้าเสี่ยงทำสัญญาเป็นแน่แท้ เพราะโอกาสที่จะสูญเสียเงินจำนวนดังกล่าวไปมีอยู่สูงมากเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สิน ยากแก่การจะเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ในภายหลัง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ตรวจสอบที่ดินและหลักฐานโฉนดที่ดิน รวมทั้งการจำนองที่ดินพิพาทก่อนตัดสินใจซื้อ บ่งบอกว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของตนเองอย่างมั่นคงและครอบครองอย่างเป็นปกติสุข ประกอบกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซื้อขายที่ดินผ่านนายหน้าโดยไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน และเพิ่งมีโอกาสพบจำเลยที่ 1 ในวันทำการซื้อขายที่สำนักงานที่ดิน จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จะร่วมมือกันทำการฉ้อฉลโจทก์เพราะจะมีผลถึงกับให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยกเลิกการซื้อขายได้ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องขาดประโยชน์จากส่วนต่างของราคาขายที่เพิ่มขึ้นจากการขายให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เชื่อว่า ก่อนและขณะซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันที่จะต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นการสมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยประเด็นค่าเสียหายให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะศาลไม่ได้คำนึงถึงความเจริญของที่ดินซึ่งเป็นเหตุให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาพิจารณากำหนดค่าเสียหายด้วย เห็นว่า ในปัญหาข้อนี้โจทก์เคยยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยเรื่องที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่ไปรับโอนที่ดินตามกำหนด จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการแก้ฎีกาที่มีผลให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีโดยเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จะต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกาและจะต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา จะทำมาในรูปคำแก้ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share