คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน55เม็ดกับ1ห่อน้ำหนัก4.91กรัมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ดังนี้แม้ขณะเกิดเหตุการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องแต่ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)ออกมายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่85(พ.ศ.2536)ซึ่งบังคับใช้ขณะเกิดเหตุโดยกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท1หรือ2เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน0.500กรัมเมื่อไม่มีการคำนวณว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางน้ำหนักรวม4.91กรัมมีสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่กำหนดจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา106ทวิเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่92(พ.ศ.2538)เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา106วรรคหนึ่งเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 59, 62, 89,106 ทวิ, 116 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 59, 89, 106 ทวิ, 116 ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อขาย จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือนริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2536 เวลาประมาณ 6.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านเลขที่ 24/2 หมู่ที่ 4 ตำบลวังไผ่ อำเภอพนมทวนจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยตามหมายค้นเอกสารหมาย จ.1และยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 55 เม็ด พร้อมเศษเมทแอมเฟตามีนรวมน้ำหนักสุทธิ 4.91 กรัม และธนบัตรของกลางตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.5 แล้วจับจำเลยตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นนำจำเลยมามอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี พนักงานสอบสวนได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ตามบันทึกคำให้การ เอกสารหมาย จ.8เมทแอมเฟตามีนของกลางได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้วตรวจพบเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีน ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.4
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือไม่ ที่จำเลยอ้างว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของนายจวงสามีจำเลย เหตุที่จำเลยรับว่าเป็นของจำเลยก็เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับนายจวงสามีจำเลยนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92(พ.ศ. 2538) เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ซึ่งบังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1หรือประเภท 2 เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน 0.500 กรัม เมื่อไม่มีการคำนวณว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางน้ำหนักรวม 4.91 กรัม มีสารบริสุทธิ์ได้ปริมาณเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ทวิเพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) เป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 วรรคหนึ่ง เท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ข้อหาตามมาตรา 106 ทวิให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share