แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาลและวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2536 มาตรา 4 บัญญัติว่าบรรดาคดีที่ได้อุทธรณ์ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณี ซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่ คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2536คดีนี้ปรากฏว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่26 พฤษภาคม 2536 ก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโจทก์ เพราะจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่า แต่จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการและผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อมาตรา 26แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้ชอบแล้ว ส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้ศาลบังคับโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินโจทก์ต่อมีกำหนด 3 ปี นับแต่คำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุด และให้จำเลยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้คราวละ 3 ปี ตลอดไปนั้น เป็นฟ้องแย้งที่กล่าวอ้างสัญญาเช่าเดิมที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องแย้ง ศาลก็ไม่สามารถบังคับโจทก์ให้ทำสัญญาเช่าให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องแย้งส่วนนี้เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 131 (2)