คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาชำระค่าเช่าล่วงหน้า 6 เดือน การชำระเงินรายเดือนเริ่มแต่ธันวาคม แม้ต่อมาผู้เช่าซื้อจะไม่ชำระค่าเช่าถ้ายังไม่พ้นจำนวนเดือนที่ชำระล่วงหน้าไว้ ก็ไม่ผิดนัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อโรงพิมพ์ของโจทก์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อจากโจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้องสำหรับงวดเดือนเมษายน 2494 จนถึงวันฟ้อง คือวันที่ 27 กรกฎาคม 2494 อันเป็นการผิดนัดเกินกว่า 2 งวดติดกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2494 ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยกลับอ้างว่าไม่ได้กระทำผิดสัญญาจึงขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2491 เป็นอันเลิกต่อกัน บังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2494 และค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาทจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์สิน

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำผิดสัญญา โดยที่การชำระเงินค่าเช่าซื้อรายเดือนนั้น ตามทางปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยโจทก์เป็นฝ่ายไปเรียกเก็บจากบริษัทจำเลย และโจทก์ได้เรียกเก็บไม่สม่ำเสมอบางคราวสองเดือนครั้งและสามเดือนครั้งก็เคยมีทั้งไม่มีกำหนดวันเวลาแน่นอน สุดแต่ใจโจทก์เป็นเกณฑ์ ทั้งนี้เป็นด้วยเมื่อโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าซื้อโรงพิมพ์แล้ว จำเลยก็ได้รับโจทก์กลับเข้าเป็นผู้จัดการดูแลโรงพิมพ์ฐานนายจ้างและลูกจ้างต่อกันโดยอนุญาตให้โจทก์อาศัยอยู่ในโรงพิมพ์เช่นที่โจทก์เคยอยู่มาแต่เดิมด้วย โดยเฉพาะที่โจทก์หาว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2494 สามงวดนี้เป็นเพราะโจทก์ไม่ไปขอรับหรือบอกกล่าวให้จำเลยชำระ แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้รับเงินล่วงหน้าไว้จากจำเลยตามสัญญาข้อ 2 ถึง 6 เดือนเดือนละ 5,000 บาทอันได้ตกลงกันเผื่อไว้ให้เป็นสำรองประกันเงินที่จะส่งตามรายเดือนสำหรับว่าจำเลยอาจขาดชำระไปบ้าง โจทก์จะได้หักเอาได้อยู่แล้วเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลย ดังนี้ ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย ค่าเสียหายที่เรียกร้องก็มากมายเกินสมควรทั้งโจทก์ดำเนินคดีทางขอเลิกสัญญา ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยส่งค่าเช่าซื้อรายเดือนที่จำเลยยังมิได้ชำระ

ศาลแพ่งทำการพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยมิได้ผิดนัดผิดสัญญาจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2491 จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อโรงพิมพ์ฐิติวณิช พร้อมทั้งที่ดินและเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ที่ตำบลเสาชิงช้า พระนคร เลขที่ 102, 104 จากโจทก์ราคา 350,000 บาท โจทก์ตั้งประเด็นมาว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อสองคราวติด ๆ กัน โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์จำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่า การเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อรายนี้โจทก์ได้ยินยอมเป็นฝ่ายเรียกเก็บและสถานที่ที่จะไปเก็บก็คือบริษัทจำเลยปากคลองตลาดประเด็นเรื่องผิดนัดอยู่ที่ว่าจำเลยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อสำหรับเดือนมีนาคมเมษายน และพฤษภาคม 2494 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่โจทก์มอบฉันทะให้นายสุนทรไปรับเงินนั้น ในใบมอบฉันทะไม่ระบุว่ามอบฉันทะให้ไปรับเงินกี่เดือน เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงจ่ายไปให้แต่เพียงค่าเช่าซื้อสำหรับเดือนเดียว นอกนั้นผัดให้ตัวโจทก์มารับเอง เพื่อจะได้พูดกันเรื่องที่จำเลยจะขอซื้อโรงพิมพ์ขาดจากโจทก์และนายสุนทรผู้รับมอบฉันทะก็ยังหนุ่มมาก เพียงเท่านี้ยังฟังว่าจำเลยผิดนัดไม่ได้ แม้จะฟังว่าผิดนัดก็เป็นการผิดนัดเพียงคราวเดียวแต่ไม่เท่านั้นโจทก์ได้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าไว้จากจำเลยตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติสัญญาถึง 6 เดือน เดือนละ 5,000 บาท และในสัญญาข้อ 4 จำเลยมีสิทธิผ่อนชำระรวมเวลาทั้งสิ้นถึง 70 เดือน ก็ถ้าจะให้เงิน 30,000 บาท นี้เป็นราคาที่ให้กันเด็ดขาดล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ก็จะไม่ระบุว่าเป็นเงินล่วงหน้าเกี่ยวกับเดือนเลยและเมื่อให้ล่วงหน้าไว้ 6 เดือน ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นประกันสำหรับเดือนต่อ ๆ ไป ซึ่งบางเดือนอาจมิได้เรียกเก็บหรือชำระกันให้ยืดไปได้ถึง 70 เดือน ตามสัญญาข้อ 1 นั้นเอง และเป็นการสอดคล้องกับพยานบุคคลของโจทก์ที่ว่าได้ตกลงเป็นที่เข้าใจกันดังนี้ด้วย จำเลยก็ไม่ผิดนัดอีก

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญากันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ข้อ 1 “ฯลฯ ผู้ให้เช่าซื้อตกลงให้ผู้เช่าซื้อเช่าซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ทั้งหมดรวมราคาทั้งสิ้น 350,000 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) โดยตกลงให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) รวม 70 เดือน เมื่อผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อครบ 70 เดือนแล้วเมื่อใดผู้ให้เช่าซื้อยอมให้ทรัพย์สินที่ได้เช่าซื้อทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่าซื้อทันที ฯลฯ”

ข้อ 2 “ในการเช่าซื้อทรัพย์สินรายนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินล่วงหน้า 6 เดือน เดือนละ 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) แก่ผู้ให้เช่าซื้อในวันทำสัญญานี้ การชำระเงินรายเดือนให้เริ่มแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2491”

ข้อความในสัญญามีดังนี้ เป็นที่เห็นได้ชัดว่า จำเลยมีสิทธิผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท รวม 70 เดือนฉะนั้น การที่จำเลยตกลงชำระเงินล่วงหน้า 6 เดือน ให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญานั้น จึงเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนถึงวันถึงกำหนดชำระหนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยได้งดเว้นยังไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะถือว่าจำเลยผิดนัดเงินค่าเช่าซื้อสองคราวติด ๆ กันยังไม่ได้ เพราะจำเลยได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อไว้ล่วงหน้าแล้วถึง 6 เดือน และระยะเวลานั้นยังไม่ได้ล่วงพ้นไป หนี้ของจำเลยที่จะต้องชำระตามข้อสัญญาจึงยังไม่มีถึงกำหนด

ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายความในชั้นนี้อีก 3,000 บาท แทนจำเลยด้วย

Share