คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 13,24,25,26,43 และมาตรา 27,44 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 27,44 วรรคสอง จำเลยอุทธรณ์ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามมาตรา 13,24,25,26,43 เป็นอันยุติคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเฉพาะมาตรา 27,44 ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27คดีจะต้องได้ความว่างานที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ให้เช่า เสนอให้เช่าหรือนำออกโฆษณานั้น จะต้องเป็นงานที่ถูกทำซ้ำ หรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่คดีนี้ไม่ได้ความว่าม้วนเทปของกลางได้ถูกทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือไม่ทั้งฎีกาโจทก์ก็มิได้ยืนยันความดังกล่าว กลับกล่าวอ้างว่าม้วนเทปของกลางเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยนำให้เช่า เสนอให้เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น คดีจึงต้องฟังว่าม้วนเทปของกลางมิได้ถูกทำซ้ำหรือดัดแปลง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 27

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 13, 24, 25, 26, 27, 42, 43, 44, 47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กับให้ของกลางตกเป็นของโจทก์และค่าปรับที่ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ลงโทษปรับ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ม้วนภาพยนต์วีดีโอของกลางตกเป็นของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 13, 24, 25, 26 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 43 และจำเลยได้กระทำผิดมาตรา 27 ซึ่งมีโทษมาตรา 44ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 27, 44 วรรคสองจำเลยอุทธรณ์ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามมาตรา 13, 24, 25, 26,43 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นอันยุติตั้งแต่ศาลชั้นต้นคดีจึงขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกาเฉพาะมาตรา 27 และมาตรา 44 ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าวหรือไม่เท่านั้นข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 6พฤศจิกายน 2529 เวลา 11.40 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นร้านค้าจำเลยซึ่งทำการให้เช่าวีดีโอเทป ได้ยึดวีดีโอเทปรวม 7 ม้วนเป็นของกลางซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ของโจทก์ ปัญหาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ความตามมาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่งานนั้นดังต่อไปนี้
(1) …ให้เช่า…เสนอให้เช่า
(2) นำออกโฆษณา
“…………………..”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า คดีจะต้องได้ความว่างานที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นให้เช่า เสนอให้เช่า หรือนำออกโฆษณานั้น จะต้องเป็นงานที่ถูกทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์แต่คดีนี้ไม่ได้ความว่าม้วนเทปของกลางได้ถูกทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือไม่ ทั้งฎีกาโจทก์ก็มิได้ยืนยันความดังกล่าว กลับกล่าวอ้างว่าม้วนเทปของกลางเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยนำให้เช่า เสนอให้เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น คดีจึงต้องฟังว่าม้วนเทปของกลางมิได้ถูกทำซ้ำหรือดัดแปลงดังนั้น แม้จำเลยจะมีม้วนเทปของกลางไว้ให้เช่า เสนอให้เช่า หรือนำออกโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามที่โจทก์ฎีกา การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดมาตรา 27 หากจะเป็นความผิดก็เป็นกรณีอื่นซึ่งมิได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share