คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9539/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เงินเมื่อทวงถามซึ่งผู้ทรงเช็คมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึงวันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็คแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กำหนดอายุความ 1 ปีที่ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ผู้ทรงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คเดิมออกเช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มิได้ลงวันออกเช็ค และแสดงให้เห็นเจตนาว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารจึงชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็คและเมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลงวันออกเช็คในครั้งหลังเพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คก็เป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกเช็คหรือลงในเช็คในครั้งหลังเป็นต้นไปโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนดแล้วประมาณ 3 เดือนเศษคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ 357,407.54 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า เดิมเช็คตามฟ้องลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 เมื่อเช็คถึงกำหนดจำเลยได้ขอผัดผ่อนการใช้เงินตามเช็ค แล้วจำเลยขีดฆ่าวันที่ลงในเช็คพร้อมลงลายมือชื่อกำกับไว้ แต่ไม่ได้ลงวันที่ในเช็คไว้อีก ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 โดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค หลังจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงลงวันที่ในเช็คเป็นวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 แล้วนำไปเรียกเก็บเงินอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้นับแต่วันที่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คครั้งแรกอันถือว่าเป็นวันสั่งจ่ายเช็ค ถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์คดีนี้จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 350,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 22 กรกฎาคม 2541

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เช็คเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งในสามประเภทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898 ซึ่งกฎหมายบัญญัติวันถึงกำหนดใช้เงินแตกต่างไปจากตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินสองประเภทหลังนี้อาจกำหนดวันถึงกำหนดใช้เงินอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่ประการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 913 สำหรับเช็คเป็นเรื่องผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เงินเมื่อทวงถาม ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987 ดังนั้น ผู้ทรงเช็คจึงมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึงวันที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงยื่นเช็คแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นอายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวันที่ผู้ทรงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 สำหรับคดีนี้อายุความที่ผู้ทรงฟ้องผู้สั่งจ่ายตามเช็คมีกำหนด 1 ปี เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คเดิมออก เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่มิได้ลงวันออกเช็ค และแสดงให้เห็นเจตนาว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็ค เมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลงวันออกเช็คในครั้งหลังเพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คจึงเป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำได้อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ออกเช็คหรือลงในเช็คเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 ภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนดแล้วประมาณ 3 เดือนเศษ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share