คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นตรวจสอบไต่สวน หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์มิได้นำเอกสารเกี่ยวกับรายจ่ายที่เป็นปัญหาว่าต้องห้ามหรือไม่ไปมอบให้เจ้าพนักงาน ทั้งไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาเบิกความรับรอง รับฟังไม่ได้ว่ามีการจ่ายจริง โจทก์จะนำจำนวนเงินที่ปรากฏในเอกสารมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้
หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ยินยอมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดค่าจ้างแรงงาน ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำนวนลูกจ้างของโจทก์มีเท่าใด แต่ละคนได้ค่าจ้างเท่าใด อันจะเป็นข้อที่ทำให้เห็นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานคิดคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดค่าจ้างแรงงานและเจ้าพนักงานประเมินก็ได้ประเมินตามที่โจทก์ยินยอม อันเป็นการปฏิบัติไปตามความยินยอมของโจทก์ โจทก์จะมาอ้างภายหลังว่าเป็นการไม่ชอบไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๑ ถึง ๒๕๒๒จำนวน ๕๐,๓๕๘.๙๒ บาท และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โจทก์ต้องชำระเพิ่ม รวมทั้งเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันจำนวน ๒๗๖,๖๗๔.๗๕ บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ เนื่องจากในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล รายจ่ายที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่าต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา ๖๕ ตรี โจทก์มีหลักฐานการลงบัญชีและหลักฐานการจ่ายเงินถูกต้องค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่อ้างว่าโจทก์หักเกินไป โจทก์ได้แสดงรายละเอียดการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ในอัตราและจำนวนเงินจากมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินถูกต้องตามประมวลรัษฎากรแล้ว รายจ่ายค่าซื้อดินลูกรังที่ไม่ยอมให้หักก็เป็นรายจ่ายของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๒จริง ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โจทก์เห็นว่าเงินเดือนและค่าแรงเป็นเงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๑) การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในกรณีนี้จะต้องประเมินเป็นรายบุคคล และต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ และมาตรา๕๐ (๑) การที่เจ้าพนักงานประเมินรวมยอดเงินได้ของพนักงานและลูกจ้างทุกคนของโจทก์มารวมคำนวณภาษีเงินได้ โดยหักร้อยละ ๓ เป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม หากประเมินและคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากรและแยกประเมินเป็นรายบุคคลแล้ว โจทก์จะไม่ต้องชำระมากดังที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้ง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๓ สำหรับค่าอาหารที่โจทก์ได้จ่ายให้แม่ครัวใช้จ่ายในการประกอบอาหารในโรงครัวให้แก่พนักงานฝ่ายต่าง ๆ ทุกคนของโจทก์ยังเป็นการไม่ถูกต้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กับสั่งว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมรวมทั้งเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน แล้วให้เจ้าพนักงานประเมินใหม่ตามที่ถูกต้องและเป็นธรรม และให้สั่งว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งเงินเพิ่มตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน แล้วให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งให้ประเมินเป็นรายบุคคลด้วย
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่ามิใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา ๖๕ ตรี โจทก์นำรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายเกี่ยวกับกิจการ รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ อันถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา ๖๕ ตรี มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินก็ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์นำมูลค่าต้นทุนรถแทรกเตอร์ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนมาคิดคำนวณค่าเสื่อมราคาในปีถัดมาผิดไป ค่าซื้อดินลูกรังโจทก์มิได้ลงบัญชีไว้เป็นรายจ่ายของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๒ และเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โจทก์ยอมรับต่อเจ้าพนักงานประเมินว่าไม่สามารถให้รายละเอียดในการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน จำนวนคนงาน สถานะทางครอบครัวของพนักงานคนงานโจทก์ เพื่อคิดคำนวณภาษีตามมาตรา ๔๘ และ๕๐ (๑) ได้ และยินยอมให้ประเมินภาษีไปในอัตราร้อยละ ๓ ของยอดเงินได้พึงประเมิน ซึ่งไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด ทั้งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของจำเลยที่ ๑ และชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรีบภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รายจ่ายตามเอกสารหมาย จ.๙ ถึง จ.๑๕, จ.๒๖ ถึง จ.๖๒ เป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ การดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินรายนี้นั้นเจ้าพนักงานได้หมายเรียกโจทก์เพื่อทำการตรวจสอบและไต่สวนเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๓ ตามใบรับหมายเอกสารหมาย ล.๒๔ ซึ่งในการตรวจสอบไต่สวนนั้น นายอนุชิต ลิ้มสุวรรณ หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานหลายครั้ง นายอนุชิตมิได้นำเอกสารอันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ข้างต้นนั้นไปมอบให้เจ้าพนักงานเลย เจ้าพนักงานได้ให้โอกาสโจทก์แสดงหลักฐานในเรื่องรายจ่ายได้อย่างเต็มที่แล้ว แต่โจทก์ไม่นำมาแสดงในชั้นไต่สวน การที่โจทก์ไม่นำเอกสารที่เป็นหลักฐานแสดงรายจ่ายที่เป็นกรณีพิพาทนี้มาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินนั้นนับเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าเอกสารหลักฐานตามที่กล่าวนั้นโจทก์มีอยู่ในขณะนั้นจริงหรือไม่ และเมื่อพิจารณาถึงตัวเอกสาร สำหรับเอกสารหมาย จ.๙ ถึง จ.๑๕ นั้นเป็นสำเนาภาพถ่ายที่ไม่มีผู้ใดรับรองความถูกต้องแท้จริงว่ามีต้นฉบับอยู่จริงหรือไม่ เอกสารหมาย จ.๒๖ ถึง จ.๓๖ นั้น โจทก์ไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาเบิกความรับรองเลยไม่ว่าฉบับใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีการจ่ายเงินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารนั้น สำหรับเอกสารหมาย จ.๓๗ ถึง จ.๖๒ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับรายจ่ายค่าซื้อดินลูกรังนั้น เป็นรายจ่ายในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งตามบัญชีเงินได้และทรัพย์สินของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.๓๓ นั้นปรากฏรายการที่ลงไว้ในรายจ่ายเกี่ยวกับค่าจ้างเหมา ขุด ขนลูกรังเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ที่ลงไว้ แต่ไม่มีรายจ่ายที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๓๗, จ.๔๐, จ.๔๓, จ.๔๖,จ.๔๙, จ.๕๒, จ.๕๕, จ.๕๘ และ จ.๖๒ โจทก์อ้างว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานการจ่ายที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ลืมลงบัญชี แต่โจทก์ก็มิได้นำเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่กระทำการเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเบิกความให้เห็นว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะเชื่อได้ว่าได้มีการจ่ายค่าซื้อที่ดินลูกรังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจริง เมื่อเอกสารต่าง ๆ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นหลักฐานที่ได้มีรายจ่ายไปรับฟังได้ไม่ได้ว่ามีการจ่ายดังที่วินิจฉัยแล้ว โจทก์ก็นำจำนวนเงินที่ปรากฏในเอกสารมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้น ข้อเท็จจริงยุติว่าโจทก์มิได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ ณ ที่จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด และในเรื่องนี้ในชั้นที่นายอนุชิต ลิ้มสุวรรณหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีตามบันทึกคำให้การของนายอนุชิตเอกสารหมาย ล.๔๑ ได้ความว่า นายอนุชิตยินยอมชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้ในอัตราร้อยละ ๓ของยอดเงินค่าจ้างแรงงาน ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำนวนลูกจ้างของโจทก์มีเท่าใด แต่ละคนได้ค่าจ้างเท่าใด อันจะเป็นข้อที่ทำให้เห็นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานคิดคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ ๓ ของยอดค่าจ้างแรงงาน และเจ้าพนักงานประเมินก็ได้ประเมินตามที่โจทก์ยินยอมอันเป็นการปฏิบัติไปตามความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงจะมาอ้างภายหลังว่าเป็นการไม่ชอบนั้นไม่ได้เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share