คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การอนุญาตให้บุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเหตุสมควร โดยศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ แม้โจทก์จำเลยจะเป็นพี่น้องกัน แต่ก็เป็นคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หากยอมให้โจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลย โจทก์ย่อมต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นคุณแก่โจทก์ อันเป็นการขัดต่อความประสงค์ของจำเลยผู้มรณะอย่างเห็นได้ชัด ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องว่านางสาวสมนึก มงคลชาติ จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์และนางสาวสมนึกเป็นพี่น้องกัน โจทก์มีความประสงค์จะขอเข้าเป็นคู่ความแทนนางสาวสมนึกเพื่อดำเนินคดีต่อไป ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าการอนุญาตให้บุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43นั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเหตุสมควรทั้งศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ สำหรับกรณีนี้แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นพี่น้องกับนางสาวสมนึก มงคลชาติ จำเลย ผู้มรณะก็ตาม แต่โจทก์และนางสาวสมนึกก็เป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามกันและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในคดีนี้ โจทก์จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนนางสาวสมนึกซึ่งเป็นจำเลยเพื่อต่อสู้คดีกับตัวโจทก์เองได้อย่างไร หากยอมให้โจทก์เข้ามาเป็นคู่ความแทนนางสาวสมนึก โจทก์ย่อมจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาทุกขั้นตอนให้เป็นคุณแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับว่าเมื่อเข้าเป็นคู่ความแทนนางสาวสมนึกแล้วย่อมยินยอมให้คดีเสร็จไปตามฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการขัดต่อความประสงค์ของนางสาวสมนึกผู้มรณะอย่างเห็นได้ชัด ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนนางสาวสมนึกผู้มรณะจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share