แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยบังอาจนำทองคำแท่งซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัด และยังมิได้เสียภาษีอากรและผ่านด่านศุลกากรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยบังอาจช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ฯลฯ ซึ่งทองคำดังกล่าวอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตและหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด เช่นนี้ ไม่ถือเป็นฟ้องที่ขัดกันอันจะเป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะความผิดทั้งสองฐานอาศัยข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันมาก(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 212/2504) และโจทก์ก็มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานความผิดประกอบทั้งไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ถือเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 18/2513)
ย่อยาว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยบังอาจนำเนื้อทองคำแท่งจำนวน 2 แท่ง หนัก 2 กิโลกรัม ราคา 53,328 บาท ซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัด และยังมิได้เรียกเก็บอากรและมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมายจากเมืองสุวรรณเขต ประเทศลาว เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาต และมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย และโดยเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด และฉ้อภาษีอากรของรัฐบาล อีกทั้งทองคำแท่งดังกล่าวเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่างจำเลยบังอาจนำทองคำดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือมิฉะนั้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบังอาจช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยจำหน่าย หรือช่วยนำเอาไปเสีย หรือซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับไว้ซึ่งทองคำดังกล่าว อันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต โดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด เหตุเกิดที่ตำบลมุกดาหาร อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ขอศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. 2482มาตรา 3, 4, 9 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2494 มาตรา 3, 4 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 8, 9 และสั่งริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ และรางวัลแก่พนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2494 มาตรา 3, 4 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่างพ.ศ. 2482 มาตรา 9 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3ซึ่งเป็นบทหนัก โดยให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน ปรับ 266,640 บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถ้าจะต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยมีกำหนด 2 ปี ทองคำแท่งของกลางให้ริบ ส่วนการสั่งจ่ายค่าสินบนและค่ารางวัลแก่ผู้นำจับและผู้จับต้องบังคับตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. 2482 มาตรา 9 ตามที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า ให้แบ่งจ่ายค่าสินบนและค่ารางวัลแก่ผู้นำจับและผู้จับสี่ส่วนในห้า ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับเงินค่าสินบนค่ารางวัลแก่ผู้นำจับและผู้จับ ให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งถูกริบไว้
จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมและในข้อดุลพินิจโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ความผิดฐานนำทองคำแท่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต กับความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ดังกล่าว เป็นความผิดที่อาศัยข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันมากซึ่งควรฟ้องรวมกันมาได้โดยถือว่าไม่ถึงกับขัดกันอันจะเป็นฟ้องเคลือบคลุม และโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานความผิดซึ่งแล้วแต่ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยจะผิดในข้อหาฐานใด ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 212/2504) ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ลงโทษยืนตามศาลชั้นต้นสมควรแก่ความผิดแล้ว
พิพากษายืน