แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ใดดมีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินเบื้องต้นต้องสันนิษฐานไว้ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิตามที่ปรากฎในโฉนดนั้นโฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิเปลี่ยนมาใหม่ ๆ เพียง 4 – 5 ปีเท่านั้นยังฟังว่าผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิขาดการครอบครองมิได้ ประมวลวิธีพิจารณาแพ่ง ม.57 (3) ก.172,177 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งจำเลยเก็บรักษาไว้ จำเลยให้การว่าที่เป็นของวัดซึ่งจำเลยเป็นมัคคนายกและเวยยาวัจกร แต่ไม่ได้ต่อสู้ว่าฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวมิได้ ดังนี้ศาลจะตัดสินยกฟ้องเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องวัดด้วยนั้นมิได้ และกรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเรียกวัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนโฉนดที่ดิน ๒ โฉนดซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิให้โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นมัคคนายก จำเลยที่ ๒ เป็นเวยยาวัจกรวัดหน้าพระธาตุ ที่ดินทั้งสองโฉนดนี้บิดามารดาโจทก์ยกให้เป็นสิทธิแก่วัดแล้ว จำเลยที่ ๒ ได้เข้าครอบครองแทนวัดมากว่า ๑๐ ปีแล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ตามศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่าโจทก์หาได้ฟ้องวัดซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ กลับมาฟ้องเรียกจากจำเลยเป็นส่วนตัวดังนี้ จำเลยหามีหน้าที่จะต้องส่งคืนให้โจทก์ไม่
ศาลฎีกาตัดสินว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกโฉนดจากจำเลยเพราะจำเลยรักษาไว้ ที่จำเลยให้การว่าที่เป็นของวัดก็เป็นการนำเอากรรมสิทธิของคนที่ ๓ ขึ้นมาสู่ในประเด็นด้วย แต่มิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ควรจะฟ้องวัดฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวมิได้ รูปคดีเช่นนี้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๕๗ ข้อ ๓ (ข) ศาลอาจสั่งให้เรียกวัดมาเป็นคู่ความด้วยก็ได้ แต่ที่จะยกฟ้องเสียทีเดียวดังศาลอุทธรณ์ตัดสินมานั้นไม่ชอบ ส่วนประเด็นในคดีนี้มีเพียงว่าโจทก์ผู้มีชื่อในโฉนดจะเรียกโฉนดจากผู้ยึดถือไว้ได้หรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่าเป็นมัคคนายกและเวยยาวัจกรทำการแทนวัด ประเด็นจึงมีว่าจำเลยจะยึดโฉนดรายนี้ไว้ในนามของวัดได้เพียงไรกรรมสิทธิและการครอบครองเข้ามาสู่ในประเด็นด้วยก็เพราะจำเลยอ้างขึ้นป้องกันตามสิทธิที่ตนมีอยู่ จึงไม่จำต้องเรียกวัดมาเป็นจำเลย และโจทก์ฟ้องเรียกแต่โฉนดคืนเท่านั้นถ้าโจทก์ขาดครอบครองแล้วก็เรียกคืนมิได้แต่โดยที่โจทก์มีชื่ออยู่ในโฉนดทั้ง ๒ เบื้องต้นต้องสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิจำเลยต้องนำสืบสิทธิการยึดถือตามข้อต่อสู้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ เจ้าพนักงานได้สลักหลังโฉนดโอนชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ และที่แบ่งแยกโฉนดทั้ง ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๗๖
ก็ยังคงใส่ชื่อโจทก์อยู่ จะฟังว่าโจทก์ขาดการครอบครองไม่ได้ การที่จะฟังการครอบครองแต่เพียงว่าวัดได้จัดให้คนอยู่คนเช่าแต่อย่างเดียวโดยไม่คำนึงว่าโจทก์ยังคงสงวนชื่อเอาไว้ในโฉนดด้วย แต่ฝ่ายจำเลยมิได้โอนโฉนดเป็นของวัดเลยโดยมีโอกาศถึง ๒๐ ปีแล้วดังนี้ไม่ชอบ จึงพิพากษากลับศาลล่างทั้ง ๒ ให้โจทก์ชนะคดี