คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งจะต้องชำระภาษีอากรตามฟ้องเพียง 9 วัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ควรจะต้องรู้ว่าการขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายเพื่อการค้าหรือหากำไร เพราะจำเลยที่ 1ซื้อที่ดินทั้งหมดมาในราคาประมาณ 7,000,000 บาทแต่ขายต่อไปในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เป็นเงินถึง124 ล้านบาทเศษ ซึ่งการขายในลักษณะดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากการขายที่ดิน ดังกล่าวในวันที่ 5 กันยายน 2538 แล้วก็ได้มีการแต่งตั้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท จำเลยที่ 1 ก็รีบไปจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในวันที่ 20 กันยายน 2538 และไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้ว่าในการขายที่ดินดังกล่าว บริษัทจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี และบริษัทจำเลยที่ 1 จึงได้ร่วมกับ บริษัทจำเลยที่ 1 รีบจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 ยังปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1ยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวน 1,480,108.75 บาทการที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้แบ่งเงินที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฉลี่ยตามสัดส่วนของการถือหุ้นจึงเป็นการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินที่เหลือจำนวน 1,480,108.75 บาทไปชำระหนี้ภาษีตามฟ้องให้แก่กรมสรรพากรโจทก์ก่อน จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน 1,480,108.75 บาท

ย่อยาว

โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน13,545,798.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากต้นเงิน 3,731,625 บาท แต่ไม่เกินเงินต้น นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 3,731,625 บาทเบี้ยปรับจำนวน 7,463,250 บาท เงินเพิ่มจำนวน 1,119,487.50 บาทภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 1,231,436.25 บาท รวมเป็นเงิน 13,545,798.75 บาท และชำระเงินเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 3,731,625 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้เมื่อรวมกับเงินเพิ่มจำนวน 1,119,487.50 บาทแล้วต้องไม่เกินจำนวน 3,731,625 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 50618 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในราคา 438,000 บาท จากนายไพบูลย์ จิรนันทศักดิ์และซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2705, 38865, 40974, 41240 และ 57149 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร รวม 5 แปลง ในราคา 6,562,000 บาท จากนางวิภา จิรนันทศักดิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินทั้ง 6 แปลงดังกล่าว ให้แก่บริษัททรัพย์สิริมงคล จำกัด ในราคา 124,387,500 บาท และในวันที่ 20 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี และในวันที่ 28 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีหลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลไปยังจำเลยที่ 1 โดยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีทราบเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งจะต้องชำระภาษีอากรตามฟ้องเพียง 9 วัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ควรจะต้องรู้ว่าการขายที่ดินดังกล่าวเป็นการขายเพื่อการค้าหรือหากำไรเพราะจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งหมดมาในราคาประมาณ 7,000,000 บาท แต่ขายต่อไปในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เป็นเงินถึง 124 ล้านบาทเศษ ซึ่งการขายในลักษณะดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากการขายที่ดินดังกล่าวในวันที่ 5 กันยายน 2538 แล้วก็ได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1ก็รีบไปจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยที่ 1 ในวันที่ 20 กันยายน 2538และไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28กันยายน 2538 กรณีจึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ได้รู้ว่าในการขายที่ดินดังกล่าวนี้ บริษัทจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี และบริษัทจำเลยที่ 1 จึงได้ร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1รีบจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 ยังปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวน 1,480,108.75 บาทการที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้แบ่งเงินที่เหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนเฉลี่ยตามสัดส่วนของการถือหุ้น จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 ซึ่งบัญญัติว่า”อันทรัพย์สินของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ ผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของ บริษัทเท่านั้น” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินที่เหลือจำนวน 1,480,108.75 บาท ไปชำระหนี้ภาษีตามฟ้องให้แก่โจทก์ก่อนจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีในวงเงินไม่เกิน 1,480,108.75 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในวงเงินไม่เกิน 1,480,108.75 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share