แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้าที่โจทก์ขนส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อตกลงในการขนส่งกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุมัติโควตามอบโควตาให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา อีกต่อหนึ่ง เป็นการโอนสิทธิในการส่งออกให้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ เป็นการตั้งให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดในค่าขนส่ง ต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2538 จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนและสาขาของจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 11 โดยจำเลยที่ 12 ถึงที่ 14ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 11 แสดงออกโดยปริยายแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจัดหาตัวแทนเพื่อส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจำเลยที่ 1ไปประเทศสหรัฐอเมริกาในนามโควตาของจำเลยที่ 4 และที่ 11 ต่อมาจำเลยที่ 1ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 และที่ 11 ได้ติดต่อให้โจทก์เป็นตัวแทนค้าต่างโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ในการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าว วันที่ 21 และ 25มกราคม 2538 โจทก์จัดส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำนวน 700 และ 1,878 กล่อง น้ำหนัก 2,100 และ 5,634 กิโลกรัมตามลำดับ โดยสายการบินเกาหลีไปยังบริษัทไดแนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อส่งให้แก่โรเจอร์ แอนด์ บราว ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และวันที่ 31 มกราคม 2538 โจทก์จัดส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 11 จำนวน 26 กล่อง น้ำหนัก 520 กิโลกรัม โดยสายการบินเดลต้าแอร์ไลน์ไปยังบริษัทแอร์ไทเกอร์เอ็กซ์เพรสซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อส่งให้แก่บริษัททอปวิลเล่ย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้ง 3 ครั้ง โจทก์ในฐานะตัวแทนค้าต่างได้ออกเงินทดรองจ่ายค่าขนส่งแทนไปเป็นจำนวน 350,603 บาท 907,704 บาท และ 26,211 บาท ตามลำดับรวมเป็นเงินจำนวน 1,284,518.50 บาท โจทก์เรียกเก็บเงินทดรองจ่ายจากจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 11 แล้วแต่จำเลยทั้งสิบสี่เพิกเฉย โจทก์เสียหายขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 61,549.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,346,068 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 1,284,518.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เคยตั้งจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เป็นตัวแทนและไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 11ถึงที่ 14 และโจทก์ จำเลยที่ 5 เป็นสาขาของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะนิติบุคคลร่วมกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 4จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 4ถึงที่ 10 ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน1,258,307 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 10
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 4 ได้รับอนุมัติโควตาส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกไปนอกประเทศจากกองสิ่งทอ กรมการค้าต่างประเทศจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้โควตาของจำเลยที่ 4 จำนวน 2 ครั้ง โจทก์ทดรองจ่ายค่าขนส่งไปรวม 1,258,307 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขนส่งแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4ในการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ พยานโจทก์มีนายธนาวุฒิยิ่งบัณฑิตพงศ์ นายธัญญะ จิตต์อุไร นายสมพร เด่นวานิช และนายอุเทนโชติยานนท์ เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 ถามค้านว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ติดต่อกับนายอุเทนพนักงานโจทก์ให้ขนส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์รับสินค้าที่จะส่งจากโรงงานของจำเลยที่ 1 และสินค้าดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 อีกทั้งนายธัญญะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4ถึงที่ 10 ถามค้านรับว่าสินค้าที่โจทก์ขนส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกาตามใบขนส่งสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.8 กับใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.11เป็นสินค้ารายการเดียวกับที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 ล.2 เห็นว่า เอกสารหมายล.1 ล.2 เป็นหนังสือยินยอมการรับส่วนจัดสรรระหว่างเจ้าของส่วนจัดสรรกับเจ้าของสินค้าซึ่งได้ระบุว่าเป็นการจัดสรรด้วยวิธีแลกเปลี่ยนโควตาโดยระบุให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในการรับชำระเงินและระบุเลขที่ใบกำกับสินค้าหรือINVOICE ในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1, 4 และเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1, 2ว่าเป็นเลขที่ 380125/UEO, 380126/UEO ซึ่งตรงกับเลขที่ INVOICEในใบขนสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.8 จ.13 เมื่อนำมาประกอบกับคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสี่ปากข้างต้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสินค้าที่โจทก์ขนส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อตกลงในการขนส่งกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ การที่จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุมัติโควตามอบให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาอีกต่อหนึ่งเป็นการโอนสิทธิในการส่งออกให้จำเลยที่ 1ไม่ใช่เป็นการตั้งให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดในค่าขนส่งต่อโจทก์”
พิพากษายืน