คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นในคดีนี้มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างงวดที่ 9 ตามสัญญาจ้างหรือไม่ ส่วนประเด็นในคดีก่อนนั้น แม้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มจากสัญญาจ้างฉบับเดียวกันกับสัญญาจ้างในคดีนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8 ตามสัญญาจ้างนั้นหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นในคดีนี้กับประเด็นในคดีก่อนจึงแตกต่างกัน คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534มาตรา 7 ได้บัญญัติให้ยกเลิกภาษีการค้า และมาตรา 8 ประกอบด้วยมาตรา 2 (2)ได้บัญญัติให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นไป แต่สินค้าที่ได้ขายเสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1มกราคม 2535 มาตรา 24 ได้บัญญัติให้ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการยังคงเสียภาษีการค้าต่อไป ในทางกลับกันหากการขายมิได้เสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการมิได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต่อไป แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดย ป.รัษฎากรมาตรา 82/4 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แต่เนื่องจากในระยะแรกที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้านั้น หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไม่ได้ตั้งงบประมาณเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ จึงทำให้หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไม่อาจชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเรียกเก็บได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ฎ.ออกตามความในป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 249) พ.ศ.2535 ขึ้นใช้บังคับโดยมาตรา 3 บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่จะเลือกเสียภาษีการค้าตามกฎหมายเก่าหรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายใหม่ก็ได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการได้ทำสัญญาไว้ก่อน แต่ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาและวิธีการเลือกเสียภาษีไว้ ฉะนั้นกรณีใดจึงจะถือว่าผู้ประกอบการเลือกเสียภาษีการค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่มจึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อโจทก์ได้แสดงความประสงค์ไปยังจำเลยว่าโจทก์ได้ขอเลือกปฏิบัติตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว โดยโจทก์ขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดงานตามสัญญาจ้างที่โจทก์ได้รับชำระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 จึงถือได้ว่าโจทก์เลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าจ้างงวดที่ 9 จากจำเลย
ตามหนังสือแจ้งการใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าในการชำระค่าจ้างสำหรับงานงวดที่เหลือขอให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยสำหรับงานงวดที่ 9 จำนวน 4,468,086.90 บาท เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2537 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ได้รับชำระค่าจ้างตามป.รัษฎากรมาตรา 82/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 78/1 (2) เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์จึงถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างที่ได้รับชำระนับแต่วันที่ได้รับค่าจ้างเป็นต้นไป

Share