คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้มีชื่อในโฉนดได้เป็นความฟ้องขอแบ่งแยกโฉนดจากกันและกันโดยฝ่ายโจทก์อ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดิน 2 ใน 3 ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า มีสิทธิคนละครึ่ง ศาลพิพากษาว่าต่างปกครองเป็นส่วนสัดกันมาฝ่ายละครึ่ง 30 ปีเศษแล้ว จึงขอให้แบ่งโฉนดตามที่ปกครองมา คดีถึงที่สุด ดังนี้
ครั้นที่ดินตามโฉนดดังกล่าวตกได้แก่ผู้อื่นต่อมาทั้งสองฝ่ายแม้ผู้อื่นนั้นจะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อนก็เป็นผู้สืบสิทธิ มาจากคู่ความในคดีก่อน คำพิพากษาคดีก่อนจึงผูกมัดผู้นั้นด้วย ฉะนั้น ผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจะมาฟ้องร้องตั้งข้อพิพาทว่ามีส่วนในที่ดินตามโฉนดนั้นผิดไปจากคำพิพากษาในคดีเดิมย่อมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งแยกโฉนดที่ดิน โดยขอให้ศาลแบ่งให้โจทก์ 20 ไร่เศษให้จำเลย 10 ไร่เศษ

จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินส่วนของจำเลยมีเนื้อที่ถึง 14 ไร่เศษจำเลยยอมแบ่งแยก ถ้าแบ่งกันตามสิทธิที่จำเลยมีอยู่

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โฉนดรายพิพาทมีเนื้อที่ 30 ไร่เศษ โฉนดรายพิพาทนี้เดิมมีชื่อนายเพ็ชรนางหร่ำสามีภริยาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาได้มีการยกให้นายบุตร จึงมีชื่อนายเพ็ชร นางหร่ำ และนายบุตร 3 คนด้วยกันในโฉนด ส่วนของนายบุตรตกมาเป็นของนางจุ๊ แล้วตกมาเป็นของจำเลยส่วนของนายเพ็ชรนางหร่ำตกมาเป็นของโจทก์ ปี พ.ศ. 2478 นายเพ็ชรนางหร่ำ ฟ้องขอแบ่งแยกโฉนดจากนางจุ๊ ตั้งข้อพิพาทโต้เถียงกันเช่นเดียวกันกับในคดีนี้ ศาลพิพากษาคดีนั้นว่า ต่างปกครองเป็นส่วนสัดกันมา 30 ปีเศษ นางจุ๊ปกครองอยู่ทางใต้ (มีเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน) ให้แบ่งโฉนดตามที่ปรากฏการปกครองในแผนที่ คดีนั้นถึงที่สุด

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้มีชื่อในโฉนดได้แยกการปกครองมากว่า 10 ปีแล้ว ก็ต้องแบ่งตามปกครองไม่ใช่แบ่งตามโฉนด แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีก่อน โจทก์ก็เป็นผู้สืบสิทธิมาจากคู่ความในคดีก่อนคำพิพากษาคดีก่อนจึงผูกมัดโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิจะขอให้พิจารณาใหม่

จึงคงพิพากษายืน

Share