คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9473/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร – 6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45 – 51 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้คำนวณกระแสไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนังสือบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เข้ามาครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาดไป ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าความจริง เหตุเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) โจทก์ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องได้เป็นเงิน 340,879.50 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าที่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2545 จำนวน 86,767 บาท โจทก์ได้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้มาแล้วและเงินที่ชำระให้ตามสัญญาค้ำประกันมาหักออกจากจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว คงเหลือหนี้ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระ 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,915.73 บาท คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียด และคำขอบังคับโดยแจ้งชัดพอที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์หาต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ไฟที่แท้จริงในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พยานโจทก์สามปากซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์ได้จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ายี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ที่โจทก์นำมาเปลี่ยนให้กับจำเลยที่ 1 ใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 427,646.50 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วย โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความจริงได้ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535
ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 319,915.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 312,342,50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 181,627.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2526) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 7,573.23 บาท และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เดิมบริษัทศิวะเครื่องเย็น จำกัด เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร-6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ยี่ห้อเออีจี (AEG) ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45-51 ซอยชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าจากบริษัทศิวะเครื่องเย็น จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าโดยเช่าจากจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าว ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) นายพิพัฒน์พนักงานโจทก์ได้จดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดผิดพลาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 เป็นเหตุให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าน้อยไปกว่าที่เป็นจริง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่า ในการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ในแต่ละเดือนมีการใช้กระแสไฟฟ้าจริงเท่าใด และมีการจดหน่วยกระแสไฟฟ้าคลาดเคลื่อนในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใด ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ชอบด้วยกฎหมายแล้วว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาจึงไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยซ้ำอีก
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีพนักงานโจทก์เป็นพยานประกอบกันว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่า นายพิพัฒน์ จดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร-6362 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด เป็นเหตุให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองน้อยไปกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ซึ่งมีช่องสำหรับอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ช่องด้านล่าง ส่วนช่องด้านบนใช้สำหรับอ่านค่ากิโลวัตต์ฮาวร์ แต่นายพิพัฒน์อ่านค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากช่องด้านบนซึ่งไม่ถูกต้อง โจทก์จึงตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าแล้วคำนวณค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ตามจำนวนหน่วยที่ถูกต้องเป็นเงินค่าไฟฟ้า 340,879.50 บาท ตามวิธีคำนวณหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันตัดไฟฟ้าวันที่ 11 มิถุนายน 2545 เป็นเงิน 86,767 บาท รวมเป็นเงิน 427,646.50 บาท โจทก์นำเงินค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองชำระแล้วเป็นเงิน 10,004 บาท และเงินค้ำประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าเป็นเงิน 105,300 บาท มาหักชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงค้างชำระค่าไฟฟ้าโจทก์เป็นเงิน 312,342.50 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองมีนางสาวศรีประไพกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความเพียงลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนว่า ค่าไฟฟ้าระหว่างเดือนตุลาคม 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ที่จำเลยที่ 2 ชำระให้โจทก์เป็นค่าไฟฟ้าในอัตราปกติเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่า ค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองไม่ถูกต้องไม่ชอบอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท จากจำเลยทั้งสองได้ แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดเกิดจากการกระทำของพนักงานของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วยก็ตาม โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความเป็นจริงได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การคิดค่าไฟฟ้าไม่ถูกต้องเกิดจากความผิดพลาดของพนักงานโจทก์ที่จดหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ค่าไฟฟ้าเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด ซึ่งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้าเป็นเงิน 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share