แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีการออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนในคดีนี้มีข้อตกลงกันไว้อย่างไรในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ส่งมอบการสอบสวนคดีนี้ให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีนี้ การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยจึงฎีกาว่ามีการออกข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 สำหรับคดีนี้แล้วหรือไม่ ดังนี้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 แล้ว จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ การที่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ในวันเกิดเหตุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปภายในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ แม้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 มีผลให้ข้อกำหนดและประกาศไม่อาจบังคับต่อจำเลยและประชาชนได้อีกต่อไป แต่คำพิพากษาศาลแพ่งไม่ได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าวที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสองนั้น การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 26 มกราคม 2557 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงหามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้หรือขัดขวางมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 138 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9, 18 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้อ 1. ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้วันที่ 26 มกราคม 2557 เวลา 8.00 นาฬิกา ถึงเวลา 15.00 นาฬิกา เป็นวันเวลาลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตจังหวัด (วันเลือกตั้งล่วงหน้า) กับกำหนดให้สำนักงานเขตบางพลัดเป็นเขตเลือกตั้งที่ 33 กรุงเทพมหานคร อันเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และเป็นสถานที่เก็บรักษาหีบบัตร บัตรเลือกตั้ง รวมทั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2557 นางสาว ย. นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557 และได้ออกประกาศกับข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอันเป็นการออกประกาศกับข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา ถึง 8 นาฬิกา จำเลยกับผู้ชุมนุมประมาณ 800 คน ใช้ชื่อว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเรียกชื่อย่อว่า กปปส. ได้มาชุมนุมกันที่บริเวณทางเท้าและหน้าประตูทางเข้าออกของสำนักงานเขตบางพลัด โดยนำแผงบล็อกพลาสติกสีส้มมาปิดกั้นการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณทางเข้าออกหน้าสำนักงานเขตบางพลัด กับมีการนำโซ่เหล็กและกุญแจคล้องล็อกประตูทางเข้าออกของสำนักงานเขตบางพลัด การชุมนุมมีการใช้รถยนต์ที่มีเครื่องขยายเสียงและมีผู้ชุมนุมหลายคนรวมทั้งจำเลยได้ขึ้นไปปราศรัยบนรถยนต์ โดยปราศรัยทำนองให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเนื่องจากต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 33 กรุงเทพมหานคร (เขตบางพลัด) เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและไม่ให้ขัดขวางผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการที่จะเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในพื้นที่ของสำนักงานเขตบางพลัด แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดังกล่าวไม่สามารถเจรจาให้ผู้ชุมนุมไม่ให้ขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจึงประชุมกันแล้วเห็นว่า อาจมีการขัดขวางที่รุนแรงหากมีผู้จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งพยายามที่จะเข้ามาในสำนักงานเขตที่หน่วยลงคะแนนเลือกตั้งตั้งอยู่อันอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของประชาชนผู้จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ารวมทั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งได้และอาจเกิดปัญหาความรุนแรงขยายต่อไปอีก จึงลงมติให้ประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และปิดประกาศงดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน้าสำนักงานเขตเวลา 8.45 นาฬิกา หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุมและสลายตัวไป ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 ห้ามมิให้นางสาว ย. รักษาการนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 3 คน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว นำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาใช้บังคับเพื่อการออกประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์ในคดีดังกล่าวและประชาชนนับแต่วันที่ลงในประกาศและข้อกำหนด กับห้ามกระทำการต่าง ๆ รวม 9 ข้อ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2557 ว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นาย ส. พยานจำเลย เบิกความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้กรณีนาย ท. กับพวกที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และบางจังหวัดตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2556 เป็นต้นมา รวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย และความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และมีมติให้มีพนักงานอัยการหรืออัยการทหารแล้วแต่กรณีมาสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามมาตรา 32 มติคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า กคพ. มีการออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนในคดีนี้มีข้อตกลงกันไว้อย่างไรในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนคดีนี้ ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ส่งมอบการสอบสวนคดีนี้ให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและไปให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีนี้ การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยจึงฎีกาว่ามีการออกข้อบังคับดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 สำหรับคดีนี้แล้วหรือไม่ ดังนี้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกข้อบังคับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวข้องตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 แล้ว จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ การที่จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า คำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 มีผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในท้องที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ในวันเกิดเหตุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปภายในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่แม้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 544/2557 มีผลให้ข้อกำหนดและประกาศไม่อาจบังคับต่อจำเลยและประชาชนได้อีกต่อไป แต่คำพิพากษาศาลแพ่งไม่ได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าวที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2557 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2557 มีผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้หรือขัดขวางมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสองนั้น การดําเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 26 มกราคม 2557 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 แล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงหามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้หรือขัดขวางมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน