คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำทั้งหลายของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 คำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้อ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดว่า ข้อ 56 และ 83 แต่แทนที่จะอ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 กลับอ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 56 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งความจริงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 56 เป็นกฎหมายลงวันที่ 25 มกราคม 2515 และมีบทมาตราเพียง 6 ข้อเท่านั้น เห็นได้ชัดว่า โจทก์ระบุหมายเลขประกาศของคณะปฏิวัติผิดไป เป็นเรื่องผิดพลาดเล็กน้อย มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56 และ 83 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับขี่รถยนต์บรรทุกชนิดสามเพลาหกล้อบรรทุกดินน้ำหนักรวมน้ำหนักบรรทุก ๓๔,๓๐๐ กิโลกรัม เกินกว่าที่กำหนด ๑๓,๓๐๐ กิโลกรัมมาตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๖ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๕๖ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ เหตุเกิดที่ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๖ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖ และ ๘๓ ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินดังกล่าว ข้อ ๔
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๖ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖ และ ๘๓ ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ จำคุก ๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษเบาหรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยกระทำผิดความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ กฎหมายว่าด้วยทางหลวง แต่โจทก์ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๖ กฎหมายว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิด เป็นการอ้างกฎหมายผิด มิใช่เป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคห้า ศาลลงโทษจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำทั้งหลายของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นเรื่องการฝ่าฝืนประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เรื่องห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงแผ่นดิน ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ซึ่งผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับโทษตามข้อ ๘๓ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ได้อ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดว่าข้อ ๕๖ และ ๘๓ แต่แทนที่จะอ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ กลับอ้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๖ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ซึ่งความจริงประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๖ เป็นกฎหมายลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๕ และมีบทมาตราเพียง ๖ ข้อเท่านั้น เห็นได้ชัดว่า โจทก์ระบุหมายเลขประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ผิดไปเป็นหมายเลข ๕๖ ส่วนวันประกาศกฎหมายและบทมาตราที่ขอให้ลงแก่จำเลยระบุได้ถูกต้อง เป็นเรื่องผิดพลาดเล็กน้อย มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖ และ ๘๓ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องศาลก็มีอำนาจลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖ และ ๘๓ ได้
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖ และ ๘๓ กำหนดโทษและการลดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share