แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้มีข้อความชัดเจนว่า จำเลยทั้งสามกู้เงินไปจาก โจทก์รวม 100,000 บาท และรับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 จำเลยทั้งสามนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าความจริงทำสัญญากู้กันวันที่ 8 พฤษภาคม 2536 โดยจำเลยที่ 1เป็นคนกู้เงินโจทก์คนเดียวจำนวน 40,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันมิใช่ผู้กู้เป็นการนำสืบถึงความ ไม่บริบูรณ์ของสัญญากู้ว่าจำเลยไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน ตามที่ระบุในสัญญากู้ เพราะสัญญากู้เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง จะบริบูรณ์ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสองจึงหาใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ไม่ แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์ แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำสัญญากู้เงินโจทก์ 3 ฉบับ รวมเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 113,333.32 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า หนี้ตามสัญญากู้เงินไม่สมบูรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายบุญช่วย นุ่นรักษา ทายาทของจำเลยที่ 3เข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 มีข้อความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามกู้เงินไปจากโจทก์รวม 100,000 บาท และได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 จำเลยทั้งสามจะนำสืบพยานบุคคลว่าความจริงทำสัญญากู้เงินกันวันที่ 8 พฤษภาคม 2536 โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนกู้เงินไปจากโจทก์คนเดียวจำนวน 40,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันไม่ใช่ผู้กู้เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้เงินดังกล่าว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) หรือไม่เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์เพียง 40,000 บาท แต่โจทก์ให้ทำสัญญากู้เงินไว้3 ฉบับ รวม 100,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นหลักการของโจทก์ที่ต้องทำหลักฐานให้สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้ไปจริงทั้งนี้เพื่อความสบายใจของโจทก์ และที่ต้องทำสัญญากู้เงินย้อนหลังไปวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 ก็เนื่องจากโจทก์ต้องการให้สอดคล้องกับวันที่โจทก์ออกเช็คให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารทหารไทย จำกัด การนำสืบของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นการนำสืบถึงความไม่บริบูรณ์ของสัญญากู้เงินทั้งนี้เพราะสัญญากู้เงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสามนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินตามฟ้อง จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยทั้งสามย่อมนำสืบได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น”
พิพากษายืน