แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าอาวาสมีอำนาจมอบฉันทะให้ไวยาจักร ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ธรณีสงฆ์ของวัดได้ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 มาตรา 43
วัดเป็นนิติบุคคลตามป.พ.พ.ม. 72 มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดาตาม ม.70 และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ม.40 วัดก็ถือกรรมสิทธิที่ดินได้ และวัดอาจได้ที่ดินตาม ป.พ.พ.ม. 1382 ( อ้างฎีกาที่ 1253/2481 )
วัดฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ธรณีสงฆ์ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นายอำเภอและชาวบ้านได้เอาที่รกร้างว่างเปล่านั้นถวายวัดเพื่อทำเป็นป่าช้า แล้วนายอำเภอกับพวกได้เอาป่าช้าเดิมของวัดปลูกที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน ตลาด ดั่งนี้ คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงว่า นายอำเภอเอาที่ป้าช้าของวัดไปสร้างที่ว่าการอำเภอนั้น จะเป็นการชอบหรือไม่ และการที่นายอำเภอเอาที่พิพาทไปถวายวัดนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนที่ชอบหรือไม่
ย่อยาว
คดี ๒ สำนวนศาลพิจารณาพิพากษารวมกับ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ+ห้ามเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ นายอำเภอโคกสำโรงพร้อมด้วยชาวบ้าน ได้นำที่ดินแปลงนี้ไปถวายแต่เจ้าอาวาสวัดสิงห์คูยาง เพื่อใช้เป็นป่าช้าแทนป่าช้าเดิม ซึ่งนายอำเภอโคกสำโรงใช้ปลูกเป็นที่ว่าการอำเภอ โรงเรียนและตลาดชาวบ้านต่างได้นำศพไปเผาและฝังในที่พิพาทตลอดมา ใน พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการตัดถนนผ่านที่พิพาทและทางการได้สั่งห้ามชาวบ้านไม่ให้ใช้ที่พิพาทเป็นที่เผาและฝังศพต่อไปต่อมาจำเลยจึงได้บุกรุกที่พิพาทและโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้คือสำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่าวัดสิ่งห์คูยางมีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง จำเลยที่ ๒ ได้เข้าบุกรุกและจัดทำผลประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ ขอให้ขับไล่
จำเลยที่ ๑-๒-๔ ต่อสู้ว่าเป็นที่ดินของจำเลยและตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๓ รับว่าเป็นที่ดินของโจทก์
สำนวนหลังโจทย์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้เอาที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยครอบครองไปขายให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงขอให้ศาลทำลายสัญญาซื้อขายและขับไล่จำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ไม่ใช่ของโจทก์ เป็นของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ รับซื้อไว้โดยชอบด้วยกฎหมายและมีค่าตอบแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ เว้นแต่นายรุนจำเลยที่ ๓ ให้ขับไล่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๔๓ บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาและจัดการวัดและสมบัติของวัดให้เป็นไปโดยระเบียบเรียบร้อย ฯลฯ ดังนั้น เมื่อมีผู้บุกรุกที่ธรณีสงฆ์อันเป็นสมบัติของวัดสิงห์ยาง ซึ่งพระภิกษุบุญดาเป็นเจ้าอาวาส จึงมีอำนาจที่จะมอบให้ไวยาวัจกรของวัดฟ้องความแทนได้ ข้อคัดฟ้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า วัดสิงห์คูยางเป็นนิติบุคคลตาม ป.ม.พ.พ.ม. ๗๒ มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดาตาม ม.๗๐ และตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๔๐ วัดถือกรรมสิทธิได้ และวัดอาจได้ที่ดินตาม ม.๑๓๘๓ ฉนั้นวัดสิงห์คูยางโจทก์อาจได้ที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์โดยทางยึดถือครอบครองเหมือนบุคคลธรรมดาเหมือนกันวัดสิงห์คูยางครอบครองที่พิพาทนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งนายอำเภอโคกสำโรงกับพวกนำไปถวายวัด ที่พิพาทจึงกลายเป็นสมบัติของวัดสิงห์คูยาง เรียกว่าที่ะรณีสงฆ์ตั้งแต่นั้นมา ผู้ใดจะอ้างอายุความได้สิทธิมายันวัดหาได้ไม่ คดีไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า การที่นายอำเภอเอาที่ป่าช้าของวัดไปสร้างที่ว่าการอำเภอนั้นจะเป็นการชอบหรือไม่ และการที่นายอำเภอเอาที่พิพาทไปถวายวัดนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนที่ชอบหรือไม่
พิพากษากลับว่า ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดสิงห์คูยางโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยและทำลายนิติกรรมการซื้อขายระหว่างนางค้ำชูและนายเทียนจำเลย และห้ามจำเลยทุกคนเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทต่อไป