แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับซึ่งเป็นดุลพินิจที่ศาลจะสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียวโดยอ้างว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยเจตนาจะทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวมทั้งค่าทนายความไปเป็นจำนวนมาก จึงควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ซื้อทรัพย์นั้น อุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 168 จึงต้องห้าม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระหนี้ 3,454,839.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ18 ต่อปี ในเงินต้น 3,287,437.33 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 415 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาทภายในวันที่ 30 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปทั้งนี้จะต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความอีก 20,000 บาท ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2537หากผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งหรืองวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับจำนองได้ทันทีหากได้เงินไม่พอชำระยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 164 และน.ส.3 เลขที่ 167 ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 13ธันวาคม 2539 ได้ราคาทั้งสิ้น 7,100,000 บาท โดยนายถาวร ทองเถาว์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้
จำเลยยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยยื่นคำร้องเพื่อประวิงคดี ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เข้าสู้ราคาเพื่อตนเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ และไม่ได้สมคบกับผู้เข้าสู้ราคาอื่นกดราคาเพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ราคาที่ขายเป็นราคาสมควรและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไปแล้ว เพราะทนายจำเลยไม่ได้แจ้งให้ทราบ จำเลยเพิ่งทราบเนื่องจากได้รับหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ หากจำเลยทราบตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้าน แต่กำหนดระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ล่วงพ้นไปแล้ว จึงขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่และยื่นอุทธรณ์ไปอีก 15 วัน
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่และพ้นกำหนดที่จะขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ซื้อทรัพย์ โดยกำหนดค่าทนายความในอัตราขั้นสูง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้ผู้ซื้อทรัพย์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่าการที่ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ซื้อทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 หรือไม่ ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ซื้อทรัพย์มิต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168เพราะกฎหมายดังกล่าวห้ามไว้จริงแต่มีข้อยกเว้นไว้ว่า “เว้นแต่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย” การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่ได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้จำเลยใช้แทนผู้ซื้อทรัพย์ ก็เท่ากับว่าผู้ซื้อทรัพย์ยกเหตุว่าศาลมิได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องจึงเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 168 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่ความอาจอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้นั้น ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว เว้นแต่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นจะได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย”คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับซึ่งเป็นดุลพินิจที่ศาลจะสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่งและผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นโดยอ้างว่าจำเลยยื่นคำร้องโดยเจตนาจะทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวมทั้งค่าทนายความไปเป็นจำนวนมากจึงควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนผู้ซื้อทรัพย์นั้น เมื่ออุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว”
พิพากษายืน