คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่17มีนาคม2521โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่17มีนาคม2521ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาแพ่งมาตรา271แม้โจทก์ได้ขอหมายบังคับเมื่อวันที่12มิถุนายน2521แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่2และที่3เมื่อวันที่13มิถุนายน2521ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดในวันที่10กุมภาพันธ์2530ก็ตามก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดีเมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามโจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 42/2521 จำนวน2,850,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาดังกล่าวจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เลย โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2794 ถึง 2800 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 7 แปลง และที่ดินโฉนดเลขที่ 2802 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 2794 ถึง 2800 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2530ได้ในราคา 1,403,500 บาท หักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดแล้วคงเหลือชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 1,333,205 บาท จำเลยทั้งสามจึงยังคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่จำนวน 4,733,477.84 บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,850,000 บาทนับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน758,958.90 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสามค้างชำระ5,492,436.74 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2802 ไม่อาจขายทอดตลาดได้เพราะมีผู้ร้องขัดทรัพย์และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ถอนการยึดสิ่งปลูกสร้างจึงไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินและจะมีปัญหาในเรื่องสิ่งปลูกสร้างโจทก์จึงตีราคาหลักประกันที่ดินในราคา 1,890,000 บาท เมื่อหักกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์แล้วคงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามค้างชำระอยู่อีก 3,602,436.74 บาท จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้ แสดงว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาทขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 42/2521 พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ชำระแทน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้เอาที่ดินโฉนดเลขที่ 2794,2795, 2796, 2797, 2798, 2799, 2800 และ 2802 ตำบลในเมือง(ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์ ดังนั้น หากโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจำนวนอยู่อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นอกจากนี้หนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ถึงที่สุดวันที่ 17 เมษายน 2521 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้มีอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2521ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ โจทก์นำสิทธิดังกล่าวมาฟ้องล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2533 เป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีขาดอายุความ และจำเลยทั้งสามไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 42/2521 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์2,850,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน1,000,000 บาท นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2516 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม2516 ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 1,500,000 บาทนับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2516 ถึงวนที่ 29 ธันวาคม 2517ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,500,000 บาท นับแต่วันที่30 ธันวาคม 2517 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2520 ดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน2520 จนกว่าจะชำระเสร็จกับดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน1,350,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2517 ถึงวันที่30 มิถุนายน 2518 และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 กรกฎาคม 2518 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระแทน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้เอาที่ดินโฉนดเลขที่ 2794, 2795, 2796, 2797, 2798, 2799, 2800และ 2802 ตำบลในเมือง (ปทุม) อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้ให้โจทก์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แทนโจทก์ และจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับของศาล ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2521 โจทก์ขอหมายบังคับคดี แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนอง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2794 ถึง 2800 และ 2802 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2531 และนำออกขายทอดตลาดในวันที่10 กุมภาพันธ์ 2530 เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 2794 ถึง 2800ขายได้เป็นเงิน 1,403,500 บาท เมื่อหักเป็นค่าธรรมเนียมการขายและค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงิน 1,333,205 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2530 ส่วนที่ดินโฉนดเลยที่ 2802 ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อโจทก์จึงตีราคาที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นเงิน 1,890,000 บาท แล้วนำมาหักจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระอยู่ หลังจากหักแล้วจำเลยทั้งสามยังคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่อีกจำนวน 3,622,436.74 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่31 สิงหาคม 2533
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จะนำหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเกินกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษามาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม2521 โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามภายในสิบปีนับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2521 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2521 แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2521ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดในวันที่10 กุมภาพันธ์ 2530 ก็ตาม ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดีศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามโจทก์จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้ ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีในหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนจากการบังคับคดีจำนองหรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share