คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9414/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูให้เพียงพอแก่อัตภาพ ถ้าไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 สิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้เยาว์
บันทึกที่ระบุว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ ตกลงยินยอมรับเงินเพื่อเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ จะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(12)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(12) ห้ามผู้ใช้อำนาจปกครองสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นนิติกรรมเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของผู้เยาว์เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ไม่ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นผู้เยาว์จะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก็ตาม ก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาแก่ผู้เยาว์เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 5 ปี 2 เดือน คิดเป็นเงิน 248,000บาท โดยให้อยู่ในอำนาจการจัดการของโจทก์

จำเลยยื่นคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาทจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยให้อยู่ในอำนาจจัดการของโจทก์สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 1,750 บาทให้แก่จำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กชาย ภ. ผู้เยาว์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลย โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า ข้อตกลงตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่นิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูให้เพียงพอแก่อัตภาพ ถ้าหากไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้เยาว์ เมื่อพิเคราะห์บันทึกเอกสารหมาย ล.1 ที่ระบุว่าโจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ภ. ตกลงยินยอมรับเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ภ. จะไม่ใช่สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูอีก จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กชาย ภ. ผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(12) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร คิดจนถึงผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74,000 บาท แต่จำเลยได้มอบเงินให้โจทก์รับไปถึง 100,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 มากกว่าที่โจทก์จะพึงได้รับถึง 26,000 บาท จึงถือว่าเป็นการตกลงที่ผู้เยาว์มิได้เสียประโยชน์แต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันผู้เยาว์เพราะมิได้ทำให้ทรัพย์สินของผู้เยาว์เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(12) นั้น เป็นการห้ามผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นนิติกรรมเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของผู้เยาว์เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ดังนั้น ไม่ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นผู้เยาว์จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ก็ตาม ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ภ. ผู้เยาว์ ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีอาชีพรับราชการครูได้รับเงินเดือน 10,000 บาทเศษ โจทก์มีอาชีพรับจ้างรายได้วันละ 50 บาท โจทก์ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี 2 เดือน ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นั้นศาลฎีกาเห็นว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสมที่จำเลยจะสามารถชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ หาสูงเกินไปไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share