คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9407/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จึงต้องห้ามมิให้นำพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับแก่โจทก์และพนักงานหรือลูกจ้างของโจทก์ตามมาตรา 4 (4) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ ได้รับความยินยอมหรือต้องเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแต่อย่างใด ประกอบกับพ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1), 18 (1) (3) และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 49 ให้อำนาจรัฐวิสาหกิจแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารพนักงาน ฐานะ ความรับผิดชอบ ความสามารถของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผลกระทบต่อการบริการประชาชนเป็นสำคัญหาจำต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานหรือลูกจ้างไม่ แม้ในมาตรา 54 วรรคสอง จะกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องบริหารงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลและต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้โดยมีผลเป็นการแก้ไขและบังคับใช้ตั้งแต่วันลงมติ ส่วนที่มติดังกล่าวกำหนดให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย ก็เพียงเพื่อให้ปรากฏการแก้ไขในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หาได้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้มติคณะรัฐมนตรีไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ สิทธิของจำเลยจะได้รับเงินบำเหน็จเพียงใดต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันทั้ง 27 สำนวน โจทก์ฟ้องในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 และนายจอก เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 27 ถึงที่ 32 เป็นทายาทโดยธรรมของนายจอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 25 และนายจอกออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ส่วนจำเลยที่ 26 ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 และนายจอกยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จเนื่องจากเกษียณอายุ โจทก์จึงพิจารณาจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 และนายจอกไปก่อนตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2536 ซึ่งมีจำนวนเกินไปกว่าที่คำนวณตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์จ่ายไปโดยหลงผิด ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 และนายจอกไม่มีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนที่โจทก์จ่ายให้ไปทั้งหมดขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 26 ชำระเงินบำเหน็จคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ และบังคับจำเลยที่ 27 ถึงที่ 32 ร่วมกันชำระเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การในทำนองเดียวกันว่า การจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยแต่ละคน โจทก์ได้ดำเนินการเองและถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ มิได้จ่ายโดยผิดหลง มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย มิใช่สัญญาจ้างแรงงานเป็นเพียงคำสั่งของฝ่ายบริหาร ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้างที่มีต่อกันได้ คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอก โจทก์กับจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกจึงมีสิทธิและหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจนกว่าจะมีการตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยยังมิได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ก็ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยดังกล่าว โจทก์จึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องห้ามมิให้นำพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับแก่โจทก์และพนักงานหรือลูกจ้างของโจทก์ตามมาตรา 4 (4) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานหรือลูกจ้างจึงไม่ต้องเริ่มด้วยการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือ แล้วดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนหรือต้องได้รับความยินยอมและต้องเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าดังเช่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 ถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับพนักงานหรือลูกจ้างของโจทก์จะกระทำได้เพียงใดต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกยังมิได้เกษียณอายุ และตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 บัญญัติให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งมาตรา 18 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อเสนอให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จัดให้มีหรือปรับปรุงระเบียบข้อบังคับในการทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารและพนักงาน และ (3) พิจารณาข้อเสนอของสมาคมเพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ในการพิจารณาข้อเสนอตาม (3) ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์คำนึงถึงฐานะ ความรับผิดชอบ ความสามารถของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผลกระทบต่อการบริการประชาชน และถ้าข้อเสนอนั้นเกี่ยวกับการเงินให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 49 กำหนดว่า ในระหว่างที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบนี้ ให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์เดิมของรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวล้วนให้อำนาจรัฐวิสาหกิจสามารถแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายบริหาร พนักงาน ฐานะ ความรับผิดชอบ ความสามารถของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผลกระทบต่อการบริการประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นประการสำคัญเท่านั้น หาจำต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานหรือลูกจ้างด้วยดังเช่นที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่ และแม้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 54 วรรคสอง จะได้บัญญัติให้บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว เพียงแต่ถ้ายังไม่ได้แก้ไขก็ให้คงใช้ได้ต่อไปเท่านั้น นอกจากนี้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องบริหารรัฐวิสาหกิจภายใต้นโยบายของรัฐบาล และต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้ มติคณะรัฐมนตรีจึงย่อมมีผลเป็นการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งแต่วันที่ลงมติ และมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่แก้ไข โดยหาจำต้องแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเสียก่อนไม่ ส่วนที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้แก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย ก็เพียงเพื่อให้ปรากฏแก้ไขในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หาทำให้มติคณะรัฐมนตรียังไม่มีผลใช้บังคับก่อนมีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 25 และนายจอกเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 และจำเลยที่ 26 เกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย กองทุนบำเหน็จ พ.ศ.2536 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 แล้ว สิทธิของจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกที่จะได้เงินบำเหน็จเพียงใดต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟังขึ้น แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกได้รับอัตราเงินเดือนปัจจุบัน (ก่อนปรับอัตราเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดี) และอัตราเงินเดือนที่ปรับตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีจำนวนเท่าใด ระยะเวลาที่ทำงานอยู่เดิม และระยะเวลาทำงานนับจากวันที่โจทก์ปรับอัตราเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีถึงวันที่เกษียณอายุมีเพียงใด จึงให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติม แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและระยะเวลาทำงานของจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอก สงวนบุญ เพิ่มเติม แล้วพิพากษาในประเด็นข้อ 1 เฉพาะที่ว่าจำเลยทั้งยี่สิบหกและนายจอกมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามมติคณะรัฐมนตรีคนละเท่าใด และพิพากษาในประเด็นข้อ 2 ถึงข้อ 4 ต่อไปตามรูปคดี.

Share