แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นข้าราชการครูและเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลย ได้ยื่นคำขอกู้เงินจำเลย 6,500 บาท โดยมอบอำนาจให้ ว. ศึกษาธิการอำเภอซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยเป็นผู้รับเงินแทน ในหนังสือมอบอำนาจนั้นระบุไว้ด้วยว่าเมื่อโจทก์ได้รับเงินกู้จากผู้รับมอบอำนาจ โจทก์จะลงลายมือชื่อในหนังสือกู้และให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันตามแบบของสหกรณ์ให้เสร็จไปจำเลยยอมให้กู้เพียง 6,300 บาท น้อยกว่าที่โจทก์เสนอ และได้มอบเงินให้ ว.รับไปโดย ว. ทำคำรับรองให้ไว้ต่อจำเลยว่าจะนำเงินรายนี้ไปจ่ายให้ผู้กู้ และเมื่อจ่ายเงิน จะได้จัดให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือกู้และหนังสือค้ำประกันต่อหน้า ว. ซึ่งจะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แล้วจะได้จัดส่งหนังสือกู้และค้ำประกันต่อจำเลยโดยเร็วที่สุด ว. จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยอยู่ด้วย เมื่อ ว.ยังไม่ได้มอบเงินให้โจทก์ จะถือว่าจำเลยได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้โจทก์แล้วยังไม่ได้ ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจและคำรับรองของ ว. ก็มีข้อความแสดงอยู่ว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา366 วรรคท้าย ให้นับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการครูและเป็นสมาชิกของจำเลยโจทก์ขอกู้เงินจำเลยยังไม่ได้รับเงินและทำสัญญากู้ จำเลยกลับหักเงินเดือนโจทก์ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้ว่า นายวีรธรรมตัวแทนโจทก์ได้รับเงินกู้ไปแล้ว สัญญากู้สมบูรณ์ จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นข้าราชการครูสังกัดอำเภอพุทไธสง ซึ่งนายวีรธรรมเป็นศึกษาธิการอำเภอ นายวีรธรรมเป็นกรรมการผู้หนึ่งของสหกรณ์ครูบุรีรัมย์จำกัดสินใช้จำเลยโจทก์เป็นสมาชิกของจำเลย ได้ยื่นคำขอกู้เงินจำนวน 6,500 บาทจากจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 และทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่เดียวกันให้นายวีรธรรมเป็นผู้รับเงินกู้รายนี้แทนตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมานายวีรธรรมรับเงินจากจำเลยจำนวน 6,300 บาทตามเอกสารหมาย ล.3 ไปแล้วแต่ไม่ได้จ่ายให้โจทก์ นายวีรธรรมได้หลบหนีคดีอาญาและถูกไล่ออกจากราชการไป จำเลยได้หักเงินเดือนของโจทก์ใช้เงินที่นายวีรธรรมรับไปดังกล่าวเป็นรายเดือน โจทก์ทักท้วงไปยังจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 จำเลยหักเงินเดือนของโจทก์ไปเท่าใดนั้น คงเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยหักไปรวม 4,781.70 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาในชั้นชี้สองสถาน คู่ความแถลงร่วมกันว่า หนี้เงินกู้รายนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็เมื่อจำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์กู้เงินจำเลยไปเป็นจำนวน 6,300 บาท กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 653 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า การกู้ยืมเงินกว่า 50 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ว่า การกู้ยืมเงินรายนี้สมบูรณ์หรือไม่นั้น แม้ว่าโจทก์จะได้มอบอำนาจให้นายวีรธรรมรับเงินกู้ และนายวีรธรรมได้รับเงินไปแล้วก็ตาม แต่ต้องเข้าใจว่าโจทก์เสนอขอกู้จำนวน 6,500 บาท จำเลยพิจารณายอมให้กู้เพียง 6,300 บาท น้อยกว่าที่โจทก์เสนอ ทั้งหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.2 ยังมีข้อความไว้ด้วยว่า เมื่อโจทก์รับเงินกู้รายนี้จากผู้รับมอบอำนาจแล้ว โจทก์จะลงลายมือชื่อในหนังสือกู้ตามแบบของสหกรณ์ กับทั้งจะได้ให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือค้ำประกันตามแบบของสหกรณ์ให้เสร็จไปด้วย เมื่อนายวีรธรรมผู้รับมอบอำนาจได้รับเงินจำนวน 6,300 บาทจากจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 เอกสารฉบับนี้ยังเป็นคำรับรองของผู้รับมอบอำนาจต่อจำเลยด้วยว่า รับรองจะนำเงินรายนี้ไปจ่ายให้ผู้กู้และเมื่อจ่ายแก่ผู้กู้ ก็จะได้จัดให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในหนังสือกู้และหนังสือค้ำประกันต่อหน้าผู้รับมอบอำนาจ (หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้รับมอบอำนาจ) ซึ่งจะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แล้วจะได้จัดส่งหนังสือกู้และค้ำประกันต่อสหกรณ์โดยเร็วที่สุด ดังนี้เห็นได้ว่า นายวีรธรรมซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยจึงมีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยอยู่ด้วย โดยจะต้องนำเงินที่จำเลยมอบให้โจทก์กู้และนายวีรธรรมรับไปจากจำเลยแล้วนั้น ไปมอบให้โจทก์ แล้วทำสัญญากู้และค้ำประกันด้วย เมื่อนายวีรธรรมตัวแทนของจำเลยยังไม่ได้มอบเงินให้โจทก์ จะถือว่าจำเลยได้ส่งมอบเงินที่ยืมให้โจทก์แล้วยังไม่ได้ อีกประการหนึ่งตามเอกสารหมาย ล.2 และหมาย ล.3 นั้น มีความแสดงอยู่แล้วว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยอันมุ่งจะทำนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคท้าย ให้นับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน จนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินเดือนโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น