คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9403/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงอันจะก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น หาได้จำต้องเฉพาะการตกลงโดยชัดแจ้งไม่ อาจมีการตกลงโดยปริยายก็ได้
จำเลยเคยจ่ายเงินพิเศษแก่ลูกจ้างปีละ 15 วัน แล้วได้เปลี่ยนมาเป็นการจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ 190 บาทแทน ลูกจ้างของจำเลยหาได้ทักท้วงหรือโต้แย้งคัดค้านประการใดไม่ ตรงกันข้ามกลับยอมรับเอาผลการเปลี่ยนแปลงโดยยอมรับเอาคูปองค่าอาหารแทนเงินพิเศษตลอดมา จึงมีผลผูกพันจำเลยและลูกจ้าง
จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ190 บาทต่อเดือนนั้น คูปองค่าอาหารที่จ่ายให้มีลักษณะเป็นสวัสดิการ อันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง เมื่อลูกจ้างยอมรับเอาและจำเลยก็ได้จ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างตลอดมา จึงเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติให้ทำเป็นหนังสือมี 2 กรณี คือ กรณีแรกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปจะต้องจัดให้มีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคแรก ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในกรณีนี้จะต้องมีข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ส่วนกรณีที่สองข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้างและสามารถตกลงกันได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้ว นายจ้างหรือผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงานแล้วแต่กรณี จะต้องลงลายมือชื่อและต้องนำไปจดทะเบียนอีกด้วย
จำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารโดยมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้อง และมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ ดังนี้ จำเลยจะยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหารซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา 13 หาได้ไม่
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ก่อนที่จำเลยจะยกเลิกจ่ายคูปองค่าอาหารจำเลยได้ตกลงกับตัวแทนลูกจ้างแล้วนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงาน-ฟังมาว่า ไม่ได้มีการเจรจาสองฝ่ายให้ยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหาร อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54
จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินโบนัสและคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยจะเพิ่มเงินโบนัสแก่ลูกจ้าง แต่การที่จำเลยยกเลิกการจ่ายคูปองอาหารอันเป็นผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับคูปองอาหารย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะแก้ไขยกเลิกโดยลำพังโดยที่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 13แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลแรงงานกล่าวไว้ในส่วนของคำวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอาหารแก่โจทก์ แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายอาหารแก่โจทก์นั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารแก่ลูกจ้างเดือนละ 190 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ 190 บาท แก่โจทก์ทุกคน

Share