แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น โจทก์ฟ้องระบุวันที่จำเลยรับมอบทรัพย์และระบุวันที่จำเลยยักยอกทรัพย์ระหว่าง 6 วัน แม้จะไม่ได้ระบุเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า หมายถึงทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนในระหว่าง 6 วันที่ระบุมาในฟ้องนั้น จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2489 จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รักษาโคแม่ลูก 2 ตัวราคา 600 บาท ของนายปรุงรุ่งเรืองศรีไว้ ต่อมาระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2489 จำเลยได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังซ่อนเร้นโคแม่ลูก 2 ตัวนี้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสีย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ระบุเวลา ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)นั้นหาได้บังคับไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าในฟ้องจะต้องระบุว่าเหตุเกิดในเวลากลางคืนหรือเวลากลางวันเสมอไปไม่ การกระทำบางอย่างอาจไม่มีขณะ หรืออาจเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันตลอดไปหลาย ๆ วัน และเฉพาะในความผิดฐานยักยอกนี้ การกระทำที่เรียกว่า คิดทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้เป็นอาณาประโยชน์ของมัน หรือของผู้อื่นนั้น อาจมีกรณีที่ต้องแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ กันหลายอย่าง หลายประการเป็นหลาย ๆ ขณะได้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ได้ระบุแล้วว่า จำเลยได้ทุจริตกระทำการเบียดบังซ่อนเร้นในระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 กันยายน 2489ซึ่งหมายถึงในระหว่าง 6 วันนั้น ทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาได้ดีตลอดอยู่แล้ว ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมจึงพิพากษายืน