แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยนำเงิน 70,000 บาท ของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 70,000 บาท ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินให้แก่จำเลยในฐานะนายประกัน จำเลยมอบเช็คให้โจทก์แต่ไม่ยอมมาเบิกเงินตามเช็คจากธนาคารคืนโจทก์ แต่จำเลยอยู่ในฐานะผู้ทรงที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คมิใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน หากจำเลยไม่ชำระ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตามมาตรา 214 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารตามเช็คซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คที่ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินให้แก่โจทก์ก็ไม่ได้
ตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยมาเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้องอันเป็นเพียงวิธีการบังคับชำระหนี้เป็นตัวเงิน แต่เมื่อมีหนี้เงินดังกล่าวซึ่งจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์มอบหมายให้นางสาวสิรานี นำเงิน 120,000 บาท ของโจทก์ไปประกันตัวนางสาวกันยารัตน์ ต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 495/2548 และหมายเลขดำที่ 391/2548 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และกระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตามลำดับ จำเลยอ้างตนเองเป็นตัวแทนของนายจงศักดิ์ ทนายความของนางสาวกันยารัตน์ อาสาโจทก์ในการขอประกันนางสาวกันยารัตน์ นางสาวสิรานีได้มอบเงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่จำเลยไปดำเนินการแทนโจทก์ จำเลยได้เบียดบังเอาเงินดังกล่าวจำนวน 50,000 บาท ของโจทก์ไปโดยทุจริต เนื่องจากโจทก์ทราบภายหลังว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 495/2548 ใช้หลักประกันเป็นเงินสดเพียง 70,000 บาท ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 391/2548 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ประกันและเมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด ศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายคืนเงินหลักประกันตามเช็คธนาคารออมสิน สาขาตราด เลขที่ 3606919 ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำนวน 70,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยได้มอบเช็คดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมมาเบิกเงินตามเช็คจากธนาคารคืนโจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยเบิกเงินตามเช็คธนาคารออมสิน สาขาตราด เลขที่ 3606919 จำนวนเงิน 70,000 บาท ของศาลชั้นต้น ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่มาให้สั่งธนาคารตามเช็คจ่ายเงินจำนวน 70,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์มอบหมายให้นางสาวสิรานี นำเงิน 120,000 บาท ของโจทก์ไปประกันตัวนางสาวกันยารัตน์ ต่อศาลชั้นต้น ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 495/2548 และหมายเลขดำที่ 391/2548 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ และกระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตามลำดับ จำเลยตกลงรับดำเนินการประกันตัวนางสาวกันยารัตน์ต่อศาลชั้นต้น โดยได้รับเงิน 120,000 บาท จากนางสาวสิรานี และนางสาวกันยารัตน์ก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลชั้นต้น ต่อมาโจทก์จึงทราบว่า หลักประกันที่จำเลยใช้ในการประกันตัวนางสาวกันยารัตน์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 495/2548 เป็นเงินสดเพียง 70,000 บาท ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 391/2548 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ประกัน เมื่อคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุด ศาลชั้นต้นคืนหลักประกันให้แก่จำเลยโดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินจำนวน 70,000 บาท จำเลยได้มอบเช็คดังกล่าวแก่โจทก์ สำหรับเงินจำนวน 50,000 บาท ที่จำเลยเอาไปนั้น คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำเลยให้มาถอนเงินจากธนาคารตามเช็คจำนวน 70,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คที่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายให้แก่จำเลยในฐานะนายประกันเป็นเช็คระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะผู้ทรงในฐานะเป็นผู้รับเงินที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คจึงมิใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 โดยตรง เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน หากจำเลยไม่ชำระ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารตามเช็คซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินที่ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินให้แก่โจทก์ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยมาเบิกถอนเงินจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินอีกจำนวนหนึ่ง แม้โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้องอันเป็นเพียงวิธีการบังคับชำระหนี้เป็นตัวเงิน แต่เมื่อมีหนี้เงินดังกล่าวซึ่งจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย ทั้งโจทก์ได้ชำระค่าธรรมเนียมศาลทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์สำหรับคำขอในส่วนนี้มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินอีกจำนวน 70,000 บาท แก่โจทก์ เมื่อรวมกับที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ