คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9176/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่มิใช่กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงอันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารซึ่งเป็นระวางรูปแผนที่ทางอากาศตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งเกิดขึ้นโดยสภาพการใช้มาตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แม้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม จำเลยดำรงตำแหน่งนายอำเภอเชียงยืนมีอำนาจและหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจตรวจตรารักษาที่สาธารณประโยชน์ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 โดยในการรังวัดปักหลักเขตเจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกด้านได้ทำการชี้ระวังแนวเขตที่ดินและได้ลงชื่อรับรองว่าตามที่โจทก์นำสำรวจที่ดินแปลงนี้ถูกต้องแล้วมิได้เหลื่อมล้ำแนวเขตของผู้อื่นหรือรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ ส่วนจำเลยซึ่งมีหน้าที่เป็นพยานตรวจสอบเพื่อออกโฉนดที่ดินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจให้นายวิรัตน์ กำนันตำบลเชียงยืนในขณะนั้นเป็นตัวแทนในการเป็นพยานรับรองแนวเขตที่สาธารณะ แต่มิได้นำชี้ระวังแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ ตามที่เจ้าพนักงานที่ดินนัดหมาย วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือถึงจำเลยและกำนันตำบลเชียงยืนพร้อมส่งประกาศเรื่องออกโฉนดที่ดินรายโจทก์โฉนดที่ดินเลขที่ 26841 ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ว่าเจ้าพนักงานที่ดินประสงค์จะแจกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ผู้ใดจะคัดค้านให้คัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่ประกาศ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2541 เวลากลางวันต่อเนื่องกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยแจ้งเท็จต่อโจทก์ว่าที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินนั้นเป็นสาธารณประโยชน์เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ให้โจทก์ออกไปจากที่ดิน ทั้งไม่รับรองแนวเขตที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วแต่จำเลยไม่ยอมถอนคำคัดค้านและรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยกับพวกยังนำป้ายซึ่งมีข้อความว่า “ดอนปู่ตา หนองเชียงยืนสาธารณประโยชน์ ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม” ไปติดตั้งในที่ดินของโจทก์อีกด้วย จึงขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 (บางส่วน) ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยและบริวารถอนป้ายแสดงเขตสาธารณประโยชน์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยและบริวารไม่ถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์ทำการรื้อถอนได้เอง ให้จำเลยเพิกถอนคำคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์และให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 ที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ในบ้านเก่าหนองเชียงยืนหรือดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ และก่อนที่โจทก์และนายทองอินทร์ จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ราษฎรบ้านเชียงยืนใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกันมาเป็นเวลา 80 ปี โดยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษ เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และเก็บฟืน และเป็นที่ที่ราษฎรแบ่งเนื้อที่กันเข้าไปปลูกพืชผักในบางฤดูกาลโดยไม่ให้ผู้ใดยึดถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ มีอาณาเขตทิศเหนือติดคันคูหนองเชียงยืน ทิศตะวันออกติดที่ดินเอกชนและทางสาธารณะ ทิศใต้และทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 25 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอออกโฉนดของที่ดินพิพาทเพราะแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับที่สาธารณประโยชน์ จำเลยในฐานะเป็นหนึ่งในกรรมการอำเภอซึ่งมีอำนาจปกปักรักษาบรรดาที่ดินที่สาธารณประโยชน์ในเขตอำเภอเชียงยืนได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบและแจ้งสภาตำบลเชียงยืนร่วมตรวจสอบ ซึ่งต่างก็มีความเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืน จำเลยจึงได้คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์อันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสี ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินโดยใช้แบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เป็นหลักฐานต่อมาช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาเชียงยืนได้ออกไปรังวัดที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดดังกล่าวได้เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ตามสำเนาระวางที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ในการรังวัดดังกล่าวเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต ยกเว้นนายวิรัตน์ กำนันตำบลเชียงยืนได้รับมอบอำนาจจากจำเลยในฐานะนายอำเภอเชียงยืนให้ไประวังแนวเขตที่สาธารณะมิได้ไประวังแนวเขตตามคำสั่งของจำเลย ซึ่งต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 เจ้าพนักงานที่ดินได้ประกาศออกโฉนดที่ดินรายของโจทก์โดยแจ้งให้จำเลยและกำนันตำบลเชียงยืนทราบ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยได้รับหนังสือจากจังหวัดมหาสารคามให้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืน จำเลยจึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือสำคัญดังกล่าวตามหนังสือตรวจสอบหลักฐานเพื่อออกหนังสือสำคัญเอกสารหมาย ล.16 ซึ่งตรงกับสำเนาระวางที่ดินและหนังสือขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.7 และ ล.18 และแต่งตั้งคณะกรรมการในการนำชี้แนวเขตตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย ล.28 มีการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวได้เนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย ล.17 โดยมีที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอออกโฉนดเป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ด้วยตามระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.1 หลังจากนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ออกไปจากที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืนโดยสภาพการใช้ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและจำเลยยังได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคามสาขาเชียงยืนคัดค้านการออกโฉนดที่ดินให้โจทก์อีกด้วยตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 และ ล.24 ตามลำดับ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ได้ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 156 ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม โดยซื้อมาจากนายตา เมื่อปี 2494 และซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 314 บางส่วนมาจากนายทองอินทร์ เมื่อปี 2506 หลังจากนั้นโจทก์ได้แผ้วถางและปลูกต้นไม้ใหญ่ทำรั้วล้อมรอบ ปัจจุบันต้นมะม่วงและต้นมะพร้าวที่โจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีอายุประมาณ 50 ปีแล้ว และไม่เคยมีผู้อื่นนำสัตว์มาเลี้ยงในที่พิพาท ส่วนจำเลยนำสืบว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืนมีเนื้อที่ 105 ไร่เศษ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยนำสัตว์เข้าไปเลี้ยง เป็นที่พักสัตว์และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาปัจจุบันทางราชการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนของหนองเชียงยืนสาธารณประโยชน์เนื้อที่ 79 ไร่เศษแล้ว ดังปรากฏตามระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.1 ในส่วนที่ระบายสีแดง คงเหลืออีก 25 ไร่เศษโดยที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังไม่ได้ออกหนังสือสำหรับที่หลวง เดิมศาลเจ้าปู่ตาตั้งอยู่ในที่ดินที่ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนี้โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินพิพาทแล้วถูกย้ายไปตั้งทางทิศตะวันออกของที่ดินพิพาท เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ชาวบ้านจะจัดงานเลี้ยงเจ้าปู่เป็นประเพณีทุกปี ขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งนายอำเภอเชียงยืนนั้น ที่ดินในส่วนที่ยังไม่ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวมีผู้บุกรุกจำนวน 16 ราย โดยผู้บุกรุกที่มีเอกสาร ส.ค.1 จำนวน 3 ราย คือโจทก์ นางจำเรียง และนางทองบ่อ เหตุที่ไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเนื่องจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านขณะนั้นเป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะเสียเองและไม่แจ้งให้ทางราชการทราบ โดยผู้ดำรงตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านขณะนั้นคือนายทองอินทร์ และโจทก์ ตามลำดับ เห็นว่าพยานจำเลยปากว่าที่ร้อยโทเฉลิมชัย เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความยืนยันว่าที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 156 ได้ออกหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.13 ที่ดินหมู่เดียวกันตำบลเดียวกัน และอำเภอเดียวกันจะมีหลักฐาน ส.ค.1 ซ้ำกันไม่ได้ส่วนที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 ซ้ำกันไม่ได้ ส่วนที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 314 นั้น ปรากฏว่านางจำเรียงได้นำไปเป็นหลักฐานขอออกโฉนดที่ดินตามคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.12 ซึ่งในเรื่องนี้นายกมล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความกล่าวแก้ว่า ส.ค.1 เลขที่ 156 ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 156 ในทะเบียนการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.13 ไปแล้ว และเป็นที่ดินซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินพิพาทโดยมีทางสาธารณประโยชน์คั่นอยู่ แต่ในเรื่องนี้ว่าที่ร้อยโทเฉลิมชัยก็ได้เบิกความยืนยันว่าที่ดินที่ตั้งอยู่ในหมู่เดียวกัน ตำบลเดียวกัน และอำเภอเดียวกันจะมีหลักฐาน ส.ค.1 ซ้ำกันไม่ได้ นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบได้ความว่า เมื่อจำเลยได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านและได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึง 2 ครั้ง โดยปรากฏผลเช่นเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืน โดยสภาพการใช้ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับตามบันทึกเอกสารหมาย ล.9 และ ล.15 สภาตำบลเชียงยืนองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงยืนและคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของอำเภอเชียงยืนต่างได้ประชุมและมีมติอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.7 ล.21 และ ล.14 ตามลำดับ โดยเฉพาะกรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นกันซึ่งผลปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามให้ประสานกับทางอำเภอเชียงยืนเพื่อยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยแล้วจำเลยได้ดำเนินการยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยแต่งตั้งคณะกรรมการนำชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์และช่างรังวัดได้ดำเนินการรังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืนแล้วตามหนังสือตรวจสอบหลักฐานเพื่อออกหนังสือสำคัญเอกสารหมาย ล.13, ล.16 ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับสำเนาระวางที่ดิน คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย จ.7, ล.28 และ ล.17 อีกทั้งจำเลยยังมีนายสอน และนายสูนย์ ซึ่งเป็นชาวบ้านสูงอายุในหมู่บ้านเชียงยืนกับนายเฉลียว กำนันตำบลเชียงยืน ซึ่งต่างเป็นบุคคลที่อยู่ในท้องที่เกิดเหตุมานานย่อมจะรู้เห็นความเป็นไปของที่ดินพิพาทเป็นอย่างดีมาเบิกความได้อย่างสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญว่าที่สาธารณประโยชน์ดอนปู่ตาหรือดอนเจ้าปู่หนองเชียงยืนมีเนื้อที่ 105 ไร่เศษ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยการนำสัตว์เข้าไปเลี้ยง เป็นที่พัก และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ปัจจุบันทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนของหนองเชียงยืนสาธารณประโยชน์เนื้อที่ 79 ไร่เศษไปแล้ว คงเหลืออีก 25 ไร่เศษ ที่ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในบริเวณนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกข้อความรายงานข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีราษฎรร้องเรียนขอความเป็นธรรมในการออกเอกสารสิทธิตามเอกสารหมาย ล.9 ที่คณะกรรมการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งยังมิได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และเห็นสมควรให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งราษฎรได้ร้องเรียนมานั้นด้วย ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านเอกสารดังกล่าวว่าไม่ตรงต่อความเป็นจริงแต่ประการใดทั้งสิ้น ส่วนพยานโจทก์อื่นๆ นอกจากตัวโจทก์เองแล้ว นางจำเรียง นายทองสุข และนายนิคม ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงไม่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ก็ปรากฏว่านางจำเรียงและนายนิคมมีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะอยู่กับจำเลยส่วนนายทองสุขเป็นหลานของโจทก์ซึ่งย่อมต้องเบิกความเข้าข้างโจทก์เป็นธรรมดา ประกอบกับพยานเอกสารที่โจทก์อ้างว่าใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทครั้งนี้ก็มีข้อพิรุธทำให้เกิดข้อที่น่าสงสัยหลายประการดังกล่าวข้างต้น แต่ฝ่ายจำเลยกลับมีพยานบุคคลเบิกความประกอบพยานเอกสารราชการต่างๆ สอดคล้องต้องกันอย่างมีเหตุผล ฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และพยานหลักฐานจำเลยแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์เป็นอย่างมาก ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารตามเอกสารหมาย ล.1 คือ ระวางรูปแผนที่ทางอากาศต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ก) (ข) ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เห็นว่า ในเรื่องนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทโดยใช้หลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 โดยที่ดินพิพาทนั้นถูกระบุไว้ในระวางแผนที่ทางอากาศเอกสารหมาย ล.1 ว่าเป็นที่มีการครอบครองโดยไม่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทถูกระบุว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่จำเลยให้การและนำสืบโต้แย้งว่า เหตุที่มิได้มีการระบุว่าบริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่กลับระบุว่าเป็นที่ที่มีการครอบครองนั้นก็เพราะในขณะที่ออกหนังสือสำหรับที่หลวง นายทองอินทร์ ซึ่งเป็นกำนันในขณะนั้นเป็นทั้งผู้แจ้งและเป็นผู้รับรองการแจ้งแบบการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 ประกอบการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวได้กระทำเมื่อปี 2507 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากแจ้งแบบการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 156 และ 314 แล้ว ประมาณ 9 ปี ฉะนั้นเหตุที่ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ดินพิพาทเนื่องจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์เสียเองและไม่แจ้งให้ทางราชการทราบ ฉะนั้น ประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมิใช่กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อเป็นดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งเกิดขึ้นโดยสภาพการใช้มาตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานเท่าใดแล้วก็ตาม โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

Share