แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ ช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 2 เป็นกำนันตำบลซับจำปา และเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจผลการปฏิบัติและตรวจรับงานตามสัญญาจ้าง โดยจำเลยทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่างานจ้างเหมาก่อสร้างถนนตามสัญญามีความยาว 1,350 เมตร การที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกไปตรวจสอบการก่อสร้าง ทำให้เกิดความเสียหายเพราะหากจำเลยที่ 1 ไปตรวจย่อมทราบได้ว่าถนนที่ก่อสร้างเสร็จมีความยาวเพียงประมาณ 1,024 เมตร การที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จด้วยเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาและเป็นการกระทำโดยสุจริต ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องจ่ายเงินค่าจ้างเกินไป และมีผู้ได้ประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นค่าก่อสร้างที่เกินไปจากความจริง แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะนำเงินค่ารับจ้างส่วนที่รับเกินไปมาคืน ก็เนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาแจ้งเรียกเงินคืน จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 2 จัดทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานฉบับใหม่มาให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานส่วนตำบลตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ช่วยราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริหารส่วนตำบลซับจำปาซึ่งเป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด สุขศรีทอง ก่อสร้างถนนดินลงลูกรัง หมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปา ขนาดผิวจราจรกว้าง 5 เมตร ฐานกว้าง 6 เมตร สูง 0.5 เมตร ยาว 1,350 เมตร ปริมาตรดินไม่น้อยกว่า 5,568 ลูกบาศก์เมตร (เผื่อทับแน่น 1.5) ลงลูกรังขนาดผิวจราจรกว้าง 4 เมตร ยาว 1,350 เมตร หนาเฉลี่ย 0.10 เมตร ปริมาตรลูกรังไม่น้อยกว่า 648 ลูกบาศก์เมตร (เผื่อทับแน่น 1.2) พร้อมเกลี่ยแต่งเรียบ วางท่อระบายน้ำ ศสส (มอก) ชั้น 3 จำนวน 3 จุด พร้อมป้าย ราคาจ้างเป็นเงิน 232,770 บาท กำหนดเริ่มทำงานภายในวันที่ 15 มีนาคม 2543 แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 เมษายน 2543 ในการก่อสร้างถนนดังกล่าว ประธานกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา อาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 (2) ข้อ 14 และข้อ 22 วรรคหนึ่ง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดหาพัสดุโดยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 48 กล่าวคือตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงานในกรณีมีข้อสงสัยให้ออกตรวจงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้นๆ เมื่อตรวจเห็นว่าเป็นการถูกต้องครบถ้วน และให้ทำใบรับรองผลการปฏิบัติงานทั้งหมด โดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 2 ฉบับ มอบให้แก่ผู้รับจ้าง 1 ฉบับและเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับ แล้วรายงานให้ประธานกรรมการบริหารทราบ ในกรณีเห็นว่าผลงานที่ส่งมอบไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาให้รายงานประธานกรรมการบริหารเพื่อทราบหรือสั่งการ และแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 49 กล่าวคือ ตรวจสอบและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือที่ตกลงให้ทำงานจ้างนั้นๆ ทุกวันให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ สั่งแก้ไขเพิ่มเติมงานจ้าง เพื่อให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา มีหน้าที่ทำเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารโดยจดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงานทั้งหมดอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ และในวันถึงกำหนดส่งมอบงานแต่ละงวดให้รายงานผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2543 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 เมษายน 2543 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 วางแผนแนะนำบอกข้อมูลให้จำเลยที่ 1 ทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างถนนดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2543 ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2543 และฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2543 รวม 3 ฉบับว่าเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2543 ผู้รับจ้างดำเนินการขุดแต่งแนวคันดินฐานถนนในความยาว 250 เมตร วันที่ 17 มีนาคม 2543 ผู้รับจ้างดำเนินการขุดแต่งแนวคันดินฐานถนนในความยาว 500 เมตร วันที่ 20 มีนาคม 2543 ผู้รับจ้างดำเนินการขุดแต่งแนวคันดินฐานถนนในความยาว 250 เมตร วันที่ 21 มีนาคม 2543 ผู้รับจ้างดำเนินการขุดแต่งแนวคัดดินฐานถนนในความยาว 350 เมตร เสนอต่อจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ อันเป็นความเท็จเพราะความจริงจำเลยที่ 1 มิได้ออกไปตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่ตกลงให้ผู้รับจ้างทำงาน และผู้ที่ทำงานก่อสร้างถนนนี้มิใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง แต่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์บรรจง ของจำเลยที่ 2 และผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างก็ไม่ได้ผลตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารใบตรวจรับงานจ้างเหมาก่อสร้างถนนดินลูกรัง หมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปาว่าบัดนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง ผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างถนนดินลงลูกรัง หมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปา รายนี้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแล้ว ซึ่งเป็นความเท็จเพราะความจริงห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง มิได้เป็นผู้ก่อสร้างถนนสายดังกล่าว แต่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์บรรจงของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างและการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จถูกต้องตามจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างและการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2543 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 7 เมษายน 2543 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลการก่อสร้างถนนดินลูกรังหมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปา โดยเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้างได้เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นโดยเข้าเป็นผู้ทำการก่อสร้างถนนดินลงลูกรังแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ประชาชนในท้องที่ตำบลซับจำปา ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157, 162, 83, 90, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน และปรับ 12,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านให้รับฟังเป็นอย่างอื่น จึงฟังยุติว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้รับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง ก่อสร้างถนนดินลงลูกรังหมู่ที่ 1 ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธาองค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ช่วยราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาให้เป็นคณะกรรมการจัดหาพัสดุ ทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานจ้างเหมาก่อสร้างถนนดินลงลูกรัง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา เป็นผู้บริหารท้องถิ่นอันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาให้เป็นคณะกรรมการจัดหาพัสดุทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจการจ้างงานจ้างเหมาก่อสร้างถนนดินลงลูกรังดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างถนนดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง เข้าประมูลการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จัดทำบันทึกประจำวัน และผลการปฏิบัติงานซึ่งเป็นความเท็จโดยการจัดทำของจำเลยที่ 2 ว่า ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2543 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง เริ่มดำเนินการก่อสร้างถนนดินลงลูกรังจนแล้วเสร็จตามสัญญาเพื่อให้จำเลยที่ 2 ทราบ โดยความจริงแล้วจำเลยที่ 1 มิได้ออกไปตรวจการก่อสร้างถนนและเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง ก่อสร้างถนนดินลงลูกรังเสร็จแล้วตามสัญญา ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่าถนนที่ก่อสร้างมีความยาวไม่ถึง 1,350 เมตร ตามสัญญา องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าถนนที่ก่อสร้างมีความยาวประมาณ 1,024 เมตร องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา จึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าก่อสร้างในส่วนที่สร้างไม่ถึงความยาวตามสัญญาไปคืน จำเลยที่ 2 ก็นำเงินจำนวน 55,788 บาท ไปคืนให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา เห็นว่า จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวลำ ช่วยราชการองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 2 เป็นกำนันตำบลซับจำปา และเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจผลการปฏิบัติและตรวจรับงานตามสัญญาจ้าง โดยจำเลยทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่างานจ้างเหมาก่อสร้างถนนตามสัญญามีความยาว 1,350 เมตร การที่จำเลยที่ 1 ไม่ออกไปตรวจสอบการก่อสร้างถนน เพราะรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้างถนนมิใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขศรีทอง ที่เป็นผู้รับจ้าง ทำให้เกิดความเสียหายเพราะหากจำเลยที่ 1 ไปตรวจผลการปฏิบัติงาน ย่อมสามารถทราบได้ว่าถนนที่ก่อสร้างเสร็จมีความยาวเพียงประมาณ 1,024 เมตร ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อเข้าเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างถนนเสียเองย่อมทราบดีว่าได้ก่อสร้างถนนยาวเท่าใด และมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าก่อสร้างถนนตามเนื้องานที่ดำเนินการสร้างเท่านั้น จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ทราบว่าถนนที่ก่อสร้างมีความยาวไม่ถึงตามสัญญาหาได้ไม่ การที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทำหลักฐานเท็จแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาพิเศษมุ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาและเป็นการกระทำโดยทุจริตแล้ว ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องจ่ายเงินค่าจ้างเกินไปทั้งที่ก่อสร้างถนนยาวไม่ถึง 1,350 เมตร และมีผู้ได้ประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเป็นค่าก่อสร้างที่เกินไปจากความจริง แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะนำเงินค่ารับจ้างส่วนที่รับเกินไปในการก่อสร้างถนนจำนวน 55,788 บาท มาคืน ก็เนื่องมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาแจ้งเรียกเงินคืน เพราะมีการร้องเรียน หากไม่มีการร้องเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปาต้องได้รับความเสียหาย จ่ายค่าก่อสร้างถนนเกินไปกว่าผลงานที่ได้รับ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่สำหรับความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างถนนนั้น จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการนี้ด้วย จึงไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง แต่การที่จำเลยที่ 2 จัดทำบันทึกประจำวันและผลการปฏิบัติงานฉบับใหม่มาให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดดังกล่าวได้ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ในชั้นฎีกาเมื่อโจทก์ไม่ได้ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองดังเช่นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดีตามศาลล่างทั้งสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 86, มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 152, มาตรา 157 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 กระทำความผิด 2 กระทง แต่ละกระทงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ละกระทงจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 8,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 กระทำผิด 3 กระทง แต่ละกระทงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ได้ลงโทษตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจำคุก 8 เดือน ปรับ 4,000 บาท ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2 กระทง แต่ละกระทงจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1