คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตามผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตซึ่งนายอุดม ธัญญะ ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย สัญญามีกำหนดระยะเวลาประกันภัย 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2532ครั้นวันที่ 5 กันยายน 2533 นายอุดมได้กินยาฆ่าแมลง แต่ยังไม่ถึงแก่ความตายทันที โดยถึงแก่ความตายในวันที่ 19 กันยายน 2533ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นายอุดมกินยาฆ่าแมลงอันเป็นการกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยสมัครใจภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องใช้เงินที่รับประกันภัยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานจำเลยคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่านายอุดม ธัญญะ ผู้เอาประกันภัย กินยาฆ่าแมลงโดยมีเจตนาฆ่าตัวตายศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานคู่ความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายอุดม ธัญญะ ผู้เอาประกันภัยกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่รับประกันภัย แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเบี้ยประกันให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,313 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (25 กรกฎาคม 2534)ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14กันยายน 2532 จำเลยได้ทำสัญญารับประกันภัย นายอุดม ธัญญะ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 สัญญากำหนดระยะเวลา20 ปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 14 กันยายน 2552ระหว่างที่อยู่ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา แต่ยังไม่ถึงแก่ความตายทันที โดยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรีจังหวัดเพชรบูรณ์ และถึงแก่ความตายวันที่ 19 กันยายน 2533 ด้วยเหตุกินยาฆ่าแมลง ตามมรณบัตรเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่าการที่นายอุดม ผู้เอาประกันภัยกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยสมัครใจภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาแต่ไม่ถึงแก่ความตายภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยผู้รับประกันภัยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 895(1) หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันชีวิตแบบที่อาศัยความมรณะเป็นหลักนั้น ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่จะต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยไว้ถึงแก่ความตายนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895 ได้บัญญัติถึงหน้าที่และข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ว่า “เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญาหรือ ฯลฯ” จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่กฎหมายบัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยเนื่องมาจากผู้เอาประกันภัยกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญานั้นก็เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกระทำอัตวินิบาตกรรม อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อต้องการให้ผู้รับประโยชน์ได้รับเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้รับประกันภัย ดังนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาแม้การกระทำจะเกิดผลสำเร็จโดยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตาม แต่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำดังกล่าว ผู้รับประกันภัยก็ได้รับยกเว้นความรับผิดไม่ต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895(1)”
พิพากษายืน

Share