คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าซึ่งได้แก่สิทธิที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ซึ่งหญิงมีสามีได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินบริคณห์ ซึ่งภรรยาถ้าทำการผูกพันสิทธิการเช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากสามีแล้ว สามีอาจบอกล้างเสียได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ให้เช่าด้วย เพราะสิทธิการเช่าจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย และสัญญาเช่า
การที่ภรรยาซึ่งเป็นผู้เช่าได้สิทธิการเช่ามาในระหว่างสมรส และโอนสิทธิการเช่าให้บุคคลอื่นโดยผู้ให้เช่ายินยอมด้วย ในเมื่อการเช่าทรัพย์เป็นสิทธิเฉพาะตัว ถ้าภรรยาซึ่งเป็นผู้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่าแล้ว สามีย่อมบอกล้างการบอกเลิกสัญญานั้นไม่ได้ ฉะนั้น สามีย่อมจะบอกล้างการโอนการเช่าดังกล่าวเพื่อให้กลับมีสภาพคงคืนตามสัญญาเช่าเดิมก็ไม่ได้ดุจกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีจำเลยที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ จำเลยที่ ๑ โดยความยินยอมของโจทก์และทำการแทนโจทก์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและโรงเรือนจากจำเลยที่ ๓ ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ถือว่าเป็นเคหะได้รับความคุ้มครอง ต่อมาจำเลยสมคบกันโดยจำเลยที่ ๒ จัดให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าให้จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๓ ได้เปลี่ยนตัวผู้เช่าใหม่ จากจำเลยที่ ๑ มาเป็นจำเลยที่ ๒ แทน นิติกรรมจึงเป็นโมฆียะจึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามจัดการโอนสิทธิการเช่ามาเป็นของจำเลยที่ ๑ ห้ามจำเลยที่ ๒ เกี่ยวข้อง หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสมให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้จะฟังว่าจำเลยที่ ๑ เป็นภรรยาโจทก์และได้สิทธิการเช่ามาในระหว่างเป็นสามีภรรยากันและจำเลยที่ ๑ โอนสิทธิการเช่าให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ยินยอมก็ตาม แต่การเช่าทรัพย์เป็นสิทธิเฉพาะตัวเมื่อโจทก์ยินยอมมอบให้จำเลยที่ ๑ ไปทำสัญญาเช่าโดยโจทก์ไม่ได้เปิดเผยชื่อตัวการ โจทก์ไม่อาจจะกระทำการใด ๆ ให้เสื่อมเสียแก่บุคคลภายนอกได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังมีข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป พิพากษายกให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นความแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิการเช่าคือสิทธิที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้มานั้น เป็นทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสและสินบริคณห์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามธรรมดา ถ้าจำเลยที่ ๑ ทำการอันเป็นการผูกพันสิทธิการเช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์แล้ว โจทก์อาจบอกล้างเสียได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ให้เช่า แต่ถ้ากระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ให้เช่าแล้ว จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายอันว่าด้วยการเช่าและสัญญาเช่า ดังคำพิพากษาฎีกาที่ ๑/๒๕๐๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๔๔ บัญญัติห้ามมิให้ผู้เช่าเอกทรัพย์สินที่เช่าไปให้เช่าช่วง และห้ามโอนสิทธิการเช่าไปให้แก่บุคคลภายนอก บทบัญญัติมาตรานี้ย่อมเป็นหลักอยู่ว่า สิทธิเรียกร้องที่จะได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าต่อผู้ให้เช่านั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้เช่าเท่านั้น จะโอนจะแบ่งตามกฎหมายครอบครัวก็ดี ตามนิติกรรมก็ดี ถ้ามิได้มีข้อตกลงไว้ในสัญญาเช่า หรือมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าแล้ว ก็เป็นอันว่าจะโอนจะแบ่งไปยังบุคคลภายนอกแม้จะเป็นสามีหรือภรรยาหรือทายาทของผู้เช่าไม่ได้ หลักกฎหมายว่าด้วยการเช่ามีข้อจำกัดอยู่ดังนี้ จึงมีผลไปถึงว่า ถ้าภรรยาซึ่งเป็นผู้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่าแล้ว สามีก็บอกล้างการบอกเลิกสัญญานั้นไม่ได้สำหรับการโอนการเช่าในคดีนี้ ก่อให้เกิดผล ๒ ประการ คือ สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ เลิกหรือระงับไป และมีสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ขึ้น โจทก์จะบอกเลิกล้างการโอนการเช่าในคดีนี้เพื่อให้กลับมีสภาพคงคืนตามสัญญาเช่าเดิมหาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share