คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมายมิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีสิทธิเลิกสัญญาโดยเหตุใดการที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2และมิได้โต้แย้งคัดค้านหามีผลเป็นการเลิกสัญญาดังกล่าวไม่เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องโต้แย้งหรือคัดค้านการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 258,090 บาทและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงิน 172,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวน นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 14 กันยายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะเพราะสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ลงลายมือชื่อโจทก์ จำเลยที่ 2ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ โจทก์มิได้โต้แย้งและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 แถลงโต้แย้งและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง แต่ต่อมาจำเลยที่ 2แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การยกเว้นในประเด็นว่า จำเลยที่ 2ได้เคยมีหนังสือบอกขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การยกเว้นในประเด็นว่าจำเลยที่ 2 ได้เคยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปถึงโจทก์และโจทก์ได้รับหนังสือแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 164,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนเงิน 114,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 278,000 บาท นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 12 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีหลายประการ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2539 ทนายจำเลยที่ 2แถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ในคำให้การยกเว้นแต่ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปถึงโจทก์และโจทก์ได้รับหนังสือแล้วทนายโจทก์แถลงรับว่าโจทก์เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 คงมีแต่ว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันไปถึงโจทก์และโจทก์ได้รับหนังสือแล้วจะมีผลตามกฎหมายอย่างไร ประเด็นข้อพิพาทอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงถือว่าคู่ความสละแล้ว ไม่เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไปปัญหาที่ว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มีผลตามกฎหมายอย่างไรนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 วรรคแรก บัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ ในกรณีของจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลิกสัญญาโดยเหตุใด การที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 แล้ว มิได้โต้แย้งคัดค้านหามีผลเป็นการเลิกสัญญาค้ำประกันไม่ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องโต้แย้งหรือคัดค้านการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share