แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ซึ่งหมายถึงผู้รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อความในหนังสือพิมพ์ การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทตาม ป.อ. จะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำการดังกล่าวต่อโจทก์โดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่บัญญัติว่า เหตุที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการมีเจตนาร่วมกับผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ในการกระทำความผิดดังกล่าวต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 136, 326, 328 และ 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาลงในอินเตอร์เน็ตเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองและลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 328 และ 332 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 2 จัดให้มีการโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในอินเตอร์เน็ตเว็ปไซต์ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง กับลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ยกฟ้องโจทก์ในส่วนคดีอาญาสำหรับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ธันวาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550 หนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 พาดหัวข่าวว่า “เสรีพิศุทธ์ เด้งฟ้าผ่า ผบช.สตม. เข้ากรุ” และรายงานข่าวว่า “พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ พล.ต.ท. บุญเรือง ผบช. สตม. มาช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ 29 ตุลาคม เป็นต้นไป… สาเหตุที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์มีคำสั่งย้าย พล.ต.ท.บุญเรืองครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ พล.ต.ท. บุญเรืองไม่สนองนโยบายเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และนโยบายการทำงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีการกักตัวน้องเขยของกษัตริย์ภูฏาณเป็นเวลา 2 วัน…” มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ซึ่งหมายถึงผู้รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อความในหนังสือพิมพ์ การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำการดังกล่าวต่อโจทก์โดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์พ.ศ.2550 ที่บัญญัติว่า เหตุที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการมีเจตนาร่วมกับผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ในการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ