แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก พ. ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินมรดกที่จำเลยเช่าจาก พ. เมื่อได้ความว่าขณะนี้ทรัพย์มรดกของ พ. ยังมิได้มีการแบ่งกัน และจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของ พ. ด้วยคนหนึ่ง ดังนี้ จำเลยและทายาทอื่นย่อมมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ พ. ร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันแล้วเสร็จซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1745 ให้ใช้ มาตรา1356 ถึง มาตรา1366(ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม) บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพ 6 จำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรวม ซึ่งหมายถึงว่ามีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยโจทก์จึงจะฟ้องให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องหาได้ไม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานก่อนโดยอ้างว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องผู้เช่าซึ่งทำสัญญาเช่าจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าจริง ศาลชั้นต้นควรสืบพยานเรื่องสัญญาเช่าก่อนว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทตามสัญญาเช่าหรือไม่ และค่าเสียหายมีหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของพระพิจารณ์กลจักร์ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินจำเลยเช่าจากพระพิจารณ์กลจักร์จำเลยต่อสู้ข้อหนึ่งว่า ปัจจุบันนี้จำเลยมิได้อยู่ในฐานะผู้เช่า แต่อยู่ในฐานะทายาทมีสิทธิรับมรดกพระพิจารณ์กลจักร์เช่นเดียวกับโจทก์ มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยผู้เป็นเจ้าของรวม เมื่อศาลสอบทนายโจทก์ได้ความว่าขณะนี้ยังมิได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกของพระพิจารณ์กลจักร์เจ้ามรดก และจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่งดังนี้ จำเลยและทายาทอื่นย่อมมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของพระพิจารณ์กลจักร์ร่วมกันจนกว่า จะได้แบ่งมรดกกันแล้วเสร็จ ซึ่งมาตรา 1745แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 (ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม) บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพ 6 จำเลยจึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรวม ซึ่งหมายถึงว่ามีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วย โจทก์จะฟ้องให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความชัดพอที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายได้แล้วเช่นนี้ ก็ไม่จำต้องสืบพยานต่อไป”
พิพากษายืน