แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่ามีอาวุธปืน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 นั้นหมายความว่ามีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในความครอบครอง ดังที่พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 4(6)
จำเลยยึดถืออาวุธปืนของกลางของผู้อื่นไว้ ไม่ทำให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในอาวุธปืนนั้น และการยึดถือไว้ให้เจ้าของชั่วขณะที่เจ้าของนั่งดื่มสุราอยู่ใกล้ ๆ นั้นไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองในอาวุธปืน เพราะจำเลยมิได้ยึดถือเพื่อตน สิทธิครอบครองยังคงอยู่กับเจ้าของ ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำเลยไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนสั้นจำนวน 1 กระบอก ซึ่งเป็นอาวุธปืนของผู้มีชื่อและกระสุนปืน 1 นัด แมกกาซีน 1 อันไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใด ฯลฯ มี ฯลฯ ซึ่งอาวุธปืน ฯลฯเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้มาตรา 4(6) คำว่า “มี” หมายความว่ามีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยจ่าสิบเอกประยุทธกับพวกไปเยี่ยมนายยู้ซึ่งถูกคนร้ายลอบยิง นายยู้เอาสุรามาเลี้ยงจ่าสิบเอกประยุทธเมาสุรา เกรงว่าการมีอาวุธปืนติดตัวในขณะนั้นจะเกิดอันตราย จึงเอาอาวุธปืนของกลางซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้แล้วฝากจำเลยไว้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบปากคำนายยู้เรื่องถูกคนร้ายลอบยิง เห็นจำเลยพกปืนยืนอยู่ห่างจากที่จ่าสิบเอกประยุทธกับพวกนั่งดื่มสุราประมาณ 1 วา ฉะนั้นการที่จำเลยยึดถืออาวุธปืนของกลางของผู้อื่นไว้ไม่ทำให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในอาวุธปืนนั้น และการยึดถือไว้ให้เจ้าของชั่วขณะที่เจ้าของนั่งดื่มสุราอยู่ใกล้ ๆ นั้น ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองในอาวุธปืนเพราะจำเลยมิได้ยึดถือเพื่อตนเอง สิทธิครอบครองยังคงอยู่กับเจ้าของถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำเลยไม่มีความผิด
พิพากษายืน