แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ย่อมหมายถึงความเสียหายที่ย่อมเกิดขึ้นแต่การเลิกสัญญาหรือการไม่ชำระหนี้ การขาดประโยชน์ที่ตนควรมีควรได้ หากมิได้มีการเลิกสัญญาย่อมเป็นความเสียหายอันหนึ่ง
การจ้างทำของนั้น สินจ้างมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ให้ตอบแทนพอดีฉะเพาะแต่ทุนและค่าแรงงานเสมอไป สินจ้างอาจรวมถึงผลประโยชน์ที่นอกเหนือไปจากทุนและแรงงานที่เรียกกันว่ากำไร นั้นก็ได้
ผู้ว่าจ้างเลิกสัญญาจ้างทำของ โดยผู้รับจ้างมิได้ทำผิดสัญญา เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างขาดกำไรที่ควรจะได้ ถ้าไม่มีการเลิกสัญญาไปเท่าใด ผู้ว่าจ้างต้องรับสนองชดใช้ให้เป็นค่าสินไหมทดแทน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ซ่อมรถจักรยาน ๑๕ คน แต่ส่งรถมาให้ซ่อมเพียง ๙ คัน ชำระค่าซ่อมแล้ว ๘ คัน อีกคันหนึ่งค่าซ่อม ๔๕๕ บาท ยังไม่ชำระ และไม่ส่งรถอีก ๖ คัน มาให้โจทก์จัดการซ่อมตามสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์อันจะพึงได้เป็นเงิน ๔๕๔ บาท จึงขอให้จำเลยใช้เงินทั้งสองจำนวน
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว เพราะโจทก์ขาดความชำนาญ และทุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย และโจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินฉะเพาะค่าซ่อมรถที่ยังไม่ได้รับ ๑ คัน เป็นเงิน ๔๕๕ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๖๐๕ นั้น ย่อมหมายถึงความเสียหาย ที่ย่อมเกิดขึ้นแก่การเลิกสัญญาหรือการไม่ชำระหนี้ การขาดประโยชน์ที่ตนควรมีควรได้ หากมิได้มีการเลิกสัญญา ย่อมเป็นความเสียหายอันหนึ่ง คดีนี้โจทก์พิศูจน์ได้ว่า ถ้าจำเลยไม่เลิกสัญญาเสียโดยพละการและนำรถอีก ๖ คัน ไปซ่อมแล้ว โจทก์จะได้กำไรในการซ่อมรวม ๔๕๐ บาท ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นความเสียหายโดยตรงของโจทก์ อันเกิดแก่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างทำของนั้น จำเลยจึงต้องรับผิด จึงพิพากษาแก้ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น.