แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำนวน 1 เดือน กับ 16 วัน เป็นเงิน 107,333 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบถึงวิธีการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความถึงเงินจำนวนตามฟ้องเลยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างอัตราค่าจ้างเดือนละเท่าใด สัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่เท่าใดโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ย่อมเพียงพอที่ศาลแรงงานจะวินิจฉัยต่อไปได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่เพียงใด ไม่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่คู่ความนำสืบไว้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 และตามมาตรา 2บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2541 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 164 ที่บัญญัติให้คดีที่ยังอยู่ ในระหว่างการพิจารณาของศาลให้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย หรือประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งออกตาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 จนกว่าคดีนั้น ๆ จะถึงที่สุด การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยคดีนี้ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2540 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการทั่วไปได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ70,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 107,333 บาทและค่าชดเชย 70,000 บาท ในระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างวันที่ 1 ถึง 15 สิงหาคม 2540 เป็นเงิน 34,999 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า107,333 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 34,999 บาท และค่าชดเชย 70,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างและอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 107,333 บาท ค่าชดเชย 70,000 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 34,999บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องและอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2540จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินจำนวน107,333 บาท ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระแก่โจทก์นั้น โจทก์มิได้เบิกความถึงหรือนำสืบถึงจำนวนเงินดังกล่าวว่าจำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ด้วยเหตุใด การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นกล่าวในคำพิพากษาว่าเงินจำนวน 107,333 บาท เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ โดยมิได้อธิบายถึงหลักเกณฑ์และที่มาว่ามีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องจ่ายอย่างไรจึงเป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่คู่ความนำสืบไว้ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำนวน 1 เดือน กับ 16 วัน เป็นเงิน107,333 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบถึงวิธีการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความถึงเงินจำนวน107,333 บาท ตามฟ้องเลยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างอัตราค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาทสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอน และจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไปได้ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และ 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15สิงหาคม 2540 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่มีความผิดเมื่อโจทก์ได้รับสินจ้างเป็นรายเดือน จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้โจทก์ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2540 เป็นเวลาอีก 1 เดือน 16 วัน เป็นเงิน107,333 บาท แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เป็นเงิน107,333 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582จึงชอบแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่คู่ความนำสืบไว้หรือเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดกฎหมาย
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า เนื่องจากปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บังคับใช้แทนประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางนำเอาบทบัญญัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 46 และ 31 มาวินิจฉัยในคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 2 บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปปรากฏว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2541 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 164 ซึ่งบัญญัติว่าคำร้องที่ยังไม่ถึงที่สุดหรือคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515 จนกว่าคำร้องหรือคดีนั้น ๆ จะถึงที่สุด ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 46 และ 31 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน