แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ออกใช้บังคับ มาตรา 19 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา 84 แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2548)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๑๕ , ๖๖ , ๖๗ , ๑๐๒ ป.อ. มาตรา ๘๓ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. ๑๐๘๑๗/๒๕๔๔ ของศาลอาญา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ แถลงรับว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ ๒ ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา ๑๕ วรรคสอง) , ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๓ ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ แล้วก็ไม่อาจนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ ย. ๑๐๘๑๗/๒๕๔๔ ของศาลอาญาได้ ให้ยกคำขอนี้เสีย ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๓ พันตำรวจตรีสมศักดิ์และดาบตำรวจมนัส ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุคดีนี้ และจับกุมจำเลยทั้งสองซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านที่เกิดเหตุดังกล่าวมาดำเนินคดี โดยตรวจยึดได้เมทแอมเฟตามีนรวมจำนวน ๖๐๖,๐๐๐ บาท จากบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวเป็นของกลาง คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองปาก ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองและได้ตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนดังกล่าว หลังจากตรวจค้นพบของกลางแล้ว พยานทั้งสองได้สอบถามจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว ในชั้นจับกุมได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครองครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุม เอกสารหมาย จ. ๓ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองต่างก็เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติภารกิจไปตามอำนาจหน้าที่ และไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า พยานทั้งสองจะสมคบกันมาเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมาปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษในคดีอุกฉกรรจ์เช่นนี้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าพยานทั้งสองเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญเป็นอย่างดีและมีเหตุผลติดต่อเชื่อมโยงกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและไร้ข้อพิรุธที่จะชี้ให้เห็นว่ามีการวางแผนกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสอง เชื่อได้ว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามความสัตย์จริงตามเหตุการณ์ที่พยานทั้งสองรู้เห็น ที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่า เป็นเพราะจำเลยทั้งสองถูกจับกุมได้โดยกระทันหันพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลางยืนยันความผิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยังไม่มีโอกาสหาข้อแก้ตัวได้ทันในขณะนั้น จึงต้องให้การรับสารภาพไปตามความสัตย์จริง
แม้จะปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๘๔ แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา ๘๔ ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป บัญญัติไว้ว่า “ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวในความตอนท้ายซึ่งเป็นข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นของคำให้การในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับ เมื่อมีการแจ้งสิทธิตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว ก็สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่วรรคนี้มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๓ วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ. ๓ มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับและโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา ๒๒๖ ในสำนวนคดีนี้โดยชอบก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ หากจะแปลความบทบัญญัติดังกล่าวว่า ขณะที่ศาลมีคำพิพากษา ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังทุกกรณี ไม่ว่าคำรับสารภาพดังกล่าวจะมีอยู่ก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ก็อาจมีผลกระทบกระทั่งต่อสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะได้รับการลดโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ เพราะเหตุที่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยผู้ถูกจับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อาจทำให้ศาลไม่อาจลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก ในคดีที่ศาลล่างมีคำพิพากษาก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ให้ลดโทษแก่จำเลยเพราะเหตุที่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ แต่คดีดังกล่าวได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลสูงภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หากศาลสูงต้องห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยผู้ถูกจับในขณะที่มีคำพิพากษา คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันจะนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษเพื่อลดโทษให้แก่จำเลยได้อีก นอกจากนี้ยังอาจกระทบกระทั่งต่อสิทธิของโจทก์เสมือนหนึ่งว่า พยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ถูกตัดออกไปจากสำนวนโดยที่โจทก์ไม่มีโอกาสได้แก้ไข อันอาจทำให้ความยุติธรรมต้องเสียไปได้ กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่น่าจะมีเจตนารมณ์ให้เกิดผลเช่นนั้น ประกอบกับ ป.วิ.อ. ฉบับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรมก่อนวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่า กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๘๔ วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบกระทั่งถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสอง ที่เจ้าพนักงานผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา ๒๒๖ โดยชอบด้วยกฎหมายในสำนวนคดีนี้ก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ. ๓ มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษจำเลยทั้งสองได้ตามกฎหมายเดิม
อนึ่ง แม้จะปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะได้มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๘ และ ๑๙ ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ และ ๖๖ แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิพากษาแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา ๗๖ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) แล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.