แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประสบอุบัติเหตุขณะทำงาน นายจ้างปลดจำเลยออกจากงาน จำเลยได้รับเงินค่าชดเชยและผลประโยชน์ตามสิทธิที่จำเลยพึงได้ตามกฎหมายซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างโดยเกิดสิทธิขึ้นจากผลของกฎหมายหาใช่เพราะนายจ้างจ่ายให้จำเลยโดยเสน่หาไม่ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของโจทก์ได้เงินดังกล่าวมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 (1) อันโจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยเมื่อหย่ากัน
จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าชดเชยต่าง ๆ มาแล้วต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและอื่น ๆ คงมีอยู่เท่าที่เหลือฝากธนาคารไว้ 100,000 บาท เท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยรับเงินค่าชดเชยและอื่น ๆ ตามฟ้องเมื่อชดใช้หนี้และใช้อย่างอื่นแล้วยังเหลืออยู่ 242,150.87 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยแบ่งเงินที่รับไปแล้ว ๒๕๒,๖๙๐.๓๗ บาท และที่จะได้รับจากสำนักงานแรงงานจังหวัดสระบุรีอีก ๒๒๐,๐๓๓.๓๕ บาท ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะอีกเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย เงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยรับมาตามฟ้อง เป็นเงินส่วนตัวของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิแบ่ง และจำเลยใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและชำระหนี้สินไปเกือบหมดแล้ว จำเลยไม่ขัดข้องในเรื่องส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูบุตร ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยาน จำเลยแถลงว่าจำเลยยอมหย่ากับโจทก์และรับว่าจำเลยรับเงินมาแล้วและจะได้รับต่อไปตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จดทะเบียนหย่าขาดกับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน ๑๒๑,๑๗๕.๔๐ บาท และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะอีกเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เงินตามฟ้องเป็นเงินค่าชดเชยและผลประโยชน์พึงได้ตามสิทธิที่จำเลยพึงได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่จำเลยผู้เป็นลูกจ้างโดยเกิดสิทธิขึ้นจากผลของกฎหมาย หาใช่เพราะนายจ้างจ่ายให้จำเลยโดยเสน่หาดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของโจทก์ได้เงินดังกล่าวมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๔ (๑) โจทก์มีสิทธิขอแบ่งจากจำเลยเมื่อหย่ากันตามที่โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันไว้แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้แบ่งเงินให้โจทก์เพียงจำนวนที่เหลืออยู่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องนี้นั้น เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ในข้อนี้ว่า เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าชดเชยต่าง ๆ มาแล้วต้องใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและอื่น ๆ คงมีอยู่เท่าที่เหลือฝากธนาคารไว้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยรับเงินค่าชดเชยและอื่น ๆ ตามฟ้องเมื่อชดใช้หนี้และใช้อย่างอื่นแล้วยังเหลืออยู่ ๒๔๒,๑๕๐.๘๗ บาท ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โดยฟังว่าจำเลยมีเงินเหลือ ๒๔๒,๑๕๐.๘๗ บาท แต่ที่ศาลชั้นต้นคิดรวมเงินค่าเลี้ยงชีพจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เดือนละ ๒,๓๖๕.๙๕ บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๒๕ ที่จำเลยถูกปลดออกจากบริษัทดังกล่าวถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๒๖ รวม ๑๐ เดือน เป็นเงิน ๒๓,๖๕๙.๕๐ บาท รวมเป็นสินสมรสด้วยนั้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้มีคำขอบังคับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นสินสมรสและแบ่งให้โจทก์ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง จึงเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์เป็นเงิน ๑๐๙,๒๔๕.๖๘ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์