คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประจักษ์พยานฝ่ายโจทก์เบิกความยืนยันว่าได้พูดคุยกับพวก ของจำเลยและจำเลยเป็นเวลานานในระยะใกล้ชิดถึงสองครั้ง โดยไม่ปรากฏว่าพวกของจำเลยและจำเลยสวมหมวกหรือปกปิดใบหน้า ซึ่งพยานโจทก์จำได้แม่นยำว่าคือจำเลย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดูภาพถ่ายจำเลย พยานก็สามารถชี้ได้ถูกต้อง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พยานก็ชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องอีก หลังเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ขาดราชการจนถูกไล่ออกจากราชการเป็นพิรุธบ่งชี้ว่าจำเลยขาดราชการเพื่อหลบหนี การจับกุม ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย การที่พยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุดังกล่าวจำเลยกับพวกเคยเรียกร้องเอาเงินในลักษณะเดียวกันจาก ผู้เสียหายมาก่อนและได้กระทำต่อเนื่องกันมา จนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เป็นการนำสืบในประเด็นเพื่อให้น่าเชื่อ ว่าพยานโจทก์เคยเห็นจำเลยมาก่อนและสามารถจำจำเลยได้ การฟ้อง ก็ไม่จำต้องระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องเพราะเป็น รายละเอียดที่โจทก์นำสืบในภายหลังได้ การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานโจทก์เกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้แล้วแม้จะมิได้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ได้กระทำมาก่อนดังกล่าวก็ถือว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวน คดีนี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ส่วนการที่พยานโจทก์ เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับการสวมหมวกนิรภัยของจำเลย นั้นอาจเป็นเพราะพยานไม่ทันสังเกตหมวกนิรภัย หาทำให้ คำเบิกความในข้ออื่นมีน้ำหนักลดน้อยลงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 148, 157, 309, 310, 313, 335, 336 ทวิ,337 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน35,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 309, 310 วรรคแรก, 313 วรรคแรกประกอบมาตรา 316 และ 337 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 10 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2536 สิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกร่วมกันตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายที่ 1 ห้องหมายเลข 1231โรงแรมเวลคัมพาเลซ แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกจึงเอาเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว 1 เครื่องกระเป๋าเอกสาร 1 ใบ ของผู้เสียหายที่ 1 และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 อ-8825 กรุงเทพมหานคร ที่ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ระหว่างพักอยู่ในประเทศไทยไป พร้อมกับเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1ต่อมาสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกนัดให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินไปไถ่รถยนต์คืน ผู้เสียหายที่ 1 และนายผงาดศึกไปตามนัดพบสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกไปรอรับเงินค่าไถ่รถยนต์เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับสิบตำรวจตรีสมเจตไว้ได้ ส่วนพวกสิบตำรวจตรีสมเจตอีกคนหนึ่งหลบหนีไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่โจทก์มีนายผงาดศึก ฉิมพานิช เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2536 เวลาเที่ยงวัน สิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกรวม 4 คน พาผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านพยานและบอกให้พยานตามนางสุนีย์มาพบเพื่อให้นางสุนีย์นำเงิน 50,000 บาทไถ่ตัวผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยเป็นคนหนึ่งในพวกของสิบตำรวจตรีสมเจต และในวันที่ 3 เมษายน 2536 เวลา15 นาฬิกา ขณะที่พยานยืนรอที่หน้าร้านค้าสหกรณ์ตามนัดจำเลยขับรถจักรยานยนต์จากถนนฝั่งตรงกันข้ามไปหาพยานแล้วเปิดกระจกหน้าหมวกนิรภัยถามถึงเงินค่าไถ่รถยนต์ และบอกถึงสถานที่รถยนต์ที่จะไถ่จอดอยู่ ขณะเดียวกันร้อยตำรวจเอกสมชาย คงตั้งจิตต์ ซึ่งไปซุ่มดูเพื่อจับคนร้ายก่อนแล้วจะเข้าจับกุม แต่จำเลยขับรถจักรยานยนต์หลยหนีไปร้อยตำรวจเอกสมชายก็มาเบิกความสนับสนุนและยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้เข้าไปถามเรื่องเงินค่าไถ่จากนายผงาดศึกและขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปเมื่อพยานจะเข้าจับกุม คงจับได้แต่สิบตำรวจตรีสมเจตซึ่งยืนอยู่ที่ถนนฝั่งตรงข้ามข้างวัดเบญจมบพิตร เห็นว่า ขณะที่นายผงาดศึกเห็นสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านนั้นเป็นเวลากลางวัน และนายผงาดศึกได้คุยกับสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกเป็นเวลานานในระยะใกล้ชิด โดยไม่ปรากฏว่าสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกสวมหมวกหรือปกปิดใบหน้า และหลังจากนั้นเพียงประมาณ 10 วัน นายผงาดศึกได้พบและคุยกับสิบตำรวจตรีสมเจตกับพวกที่ร่วมไปด้วยดังกล่าวอีกหนึ่งคนอีกครั้งในระยะใกล้ชิดเพื่อตกลงเรื่องค่าไถ่รถยนต์ ทั้งขณะคุยกันพวกของสิบตำรวจตรีสมเจตยังเปิดกระจกหน้าหมวกนิรภัยอีกด้วยตามเหตุการณ์ดังกล่าวร้อยตำรวจเอกสมชายซึ่งไปซุ่มดูอยู่ก่อนแล้วและกำลังจะเข้าจับกุมและโดยเฉพาะนายผงาดศึกซึ่งเคยเห็นหน้าบุคคลดังกล่าวมาก่อนถึงสองครั้งสามารถเห็นหน้าบุคคลดังกล่าวได้ชัดเจน และจำได้แม่นยำว่าคือจำเลย ทั้งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดูภาพถ่ายจำเลยหมาย จ.4 นายผงาดศึกสามารถชี้ได้ถูกต้องว่าเป็นภาพถ่ายผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์ไปคุยกับตนที่หน้าร้านค้าสหกรณ์จนเจ้าพนักงานตำรวจสามารถทราบได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปากคลองสาน และติดตามจับกุมได้ให้นายผงาดศึกชี้ตัว ปรากฏว่านายผงาดศึกสามารถชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.1 ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ความอีกว่า หลังเกิดเหตุจำเลยขาดราชการจนถูกไล่ออกจากราชการ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพิรุธและบ่งชี้ว่าจำเลยขาดราชการเพื่อหลบหนีการจับกุม อีกประการหนึ่งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย ที่จำเลยอ้างว่านายผงาดศึกและนางสุนีย์เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ6 เดือน จำเลยกับพวกเคยขู่เอาเงินจำนวน 40,000 บาทจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นการนำสืบนอกฟ้อง และพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เห็นว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อชี้ให้เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยกับพวกเคยเรียกร้องเงินในลักษณะเดียวกันจากผู้เสียหายที่ 1และได้ทำต่อเนื่องกันมา จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเป็นการนำสืบในประเด็นเพื่อให้น่าเชื่อว่าทั้งนางสุนีย์และนายผงาดศึกเคยเห็นจำเลยมาก่อนและสามารถจำจำเลยได้ทั้งการฟ้องก็หาจำต้องระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องด้วยไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบในภายหลังได้การนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนทั้งนางสุนีย์และนายผงาดศึกเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้แล้ว แม้จะมิได้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ได้กระทำมาก่อนดังกล่าว ก็ถือว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้โดยชอบแล้ว โจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังจำเลยอ้างและที่จำเลยอ้างว่าภาพถ่ายจำเลยที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้นายผงาดศึกชี้ จำเลยถ่ายเมื่ออายุ 20 ปี แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 47 ปี จึงไม่น่าเชื่อว่านายผงาดศึกจะชี้ได้ถูกต้องนั้นเห็นว่า จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่ารูปร่างลักษณะของจำเลยขณะเกิดเหตุแตกต่างจากภาพถ่ายหมาย จ.4 อย่างไร ทั้งมิได้ส่งภาพถ่ายของจำเลยขณะเกิดเหตุมาเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันมากจนการดูเพียงภาพถ่ายหมาย จ.4 ไม่สามารถชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้อง ส่วนที่นายผงาดศึกและร้อยตำรวจเอกสมชายเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับการสวมหมวกนิรภัยของจำเลยนั้นเห็นว่า ในเหตุการณ์ที่ร้อยตำรวจเอกสมชายจะต้องรีบเข้าจับกุมจำเลย อาจจะไม่ทันสังเกตหมวกนิรภัยก็ได้ การที่พยานเบิกความแตกต่างกันในข้อดังกล่าวหาทำให้คำเบิกความในข้ออื่นมีน้ำหนักลดน้อยลงแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยล้วนขาดเหตุผลและไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share