คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรไทยและอักษรโรมันคำว่าบิกกุ๊กBigCookแฟตกุ๊กFatCook และมาสเตอร์กุ๊กMasterCook ซึ่งตัวอักษรไทยอยู่ด้านบนของอักษรโรมันและไม่มีรูปพ่อครัวประดิษฐ์อยู่ด้วยจึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้มมีอักษรไทยคำว่ากุ๊ก หรือมีอักษรไทยคำว่ากุ๊กและอักษรโรมันคำว่าCook รวมกันอยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์อย่างชัดแจ้งไม่เหมือนหรือคล้ายกันแต่อย่างใดและเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวยังแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่ใช้อักษรไทยคำว่ากุ๊ก หรืออักษรโรมันคำว่าCook หรืออักษรไทยและอักษรโรมันดังกล่าวรวมกันอย่างมากโดยคำว่าบิกกุ๊กBigCook และแฟตกุ๊กFatCook เป็นคำ2พยางค์คำว่ามาสเตอร์กุ๊กMasterCook เป็นคำ3พยางค์การจัดวางตัวอักษรและขนาดตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยก็ยังแตกต่างกันมากเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่ากุ๊กและคำCook เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตามแต่คำว่ากุ๊ก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525หมายถึงพ่อครัวทำกับข้าวฝรั่งและคำดังกล่าวก็เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำอักษรโรมันคำว่าCookซึ่งเป็นคำสามัญที่มีคำแปลตามพจนานุกรมคำดังกล่าวจึงเป็นคำสามัญทั่วๆไปไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวและหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่ากุ๊ก และคำว่า Cook เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยคำว่ากุ๊ก กับคำว่า Cook และเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยรูปพ่อครัวประดิษฐ์ กับคำว่า กุ๊ก และหรือ Cook ในลักษณะต่าง ๆตามรูปที่ 1-6 ของเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามรูปที่ 3, 4 และ 6 ของเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ไว้แล้วสำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2532 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า บิกกุ๊ก Big cook แฟตกุ๊ก Fat Cookและมาสเตอร์กุ๊ก Master Cook ต่อกรมทะเบียนการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกตามคำขอเลขที่ 192995,192996 และ 192997 เครื่องหมายการค้าทั้ง 3 คำขอของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนกับเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วสำหรับสินค้าในจำพวกเดียวกัน อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่192995, 192996 และ 192997 เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนกับเครื่องหมายการค้าต่าง ๆตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ของโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 รวมทั้งเครื่องหมายการค้าใด ๆ ที่มีคำว่ากุ๊กและ/หรือ Cook เป็นสาระสำคัญดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้ง 3 คำขอดังกล่าวหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 7รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า บิกกุ๊กBig Cook แฟตกุ๊ก Fat Cook และ มาสเตอร์กุ๊ก Master Cookที่ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้โดยชอบด้วยกฎหมายเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้ง 3 คำขอ ไม่เหมือนหรือคล้ายถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 192995, 192996 และ 192997 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยห้ามจำเลยใช้ยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งหมด
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยคำว่า กุ๊กและอักษรโรมันคำว่า Cook กับเครื่องหมายการค้ารูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้ม มีคำว่า กุ๊ก อยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์แบบหนึ่ง กับมีคำว่า กุ๊ก และอักษรโรมัน คำว่า Cookอยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์อีกแบบหนึ่ง ตามรูปที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.12 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊กและอักษรโรมันคำว่า Cook สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก ในปี 2520 ตามเอกสารหมาย จ.15และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์มีคำว่ากุ๊ก อยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์แบบหนึ่ง กับมีคำว่า กุ๊กและอักษรโรมันคำว่า COOK อยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์อีกแบบหนึ่งสำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวกตามเอกสารหมาย จ.16 และจ.17 โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้กับสินค้าน้ำมันพืช จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า บิกกุ๊กBig Cook แฟตกุ๊ก Fat Cook และมาสเตอร์กุ๊ก Master Cookสำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 ทั้งจำพวก ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกับโจทก์รวม 3 คำขอ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2532 โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนทั้ง 3 คำขอนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊ก และ Cook กับเครื่องหมายการค้ารูปพ่อครัวประดิษฐ์กับคำว่า กุ๊ก และ COOKในลักษณะต่าง ๆ ของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสามของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า บิกกุ๊ก Big Cook แฟตกุ๊ก Fat Cookและมาสเตอร์กุ๊ก Master Cook ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนหรือไม่ ในปัญหานี้ ปรากฎว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 แบ่งออกได้เป็น2 ประเภทโดยเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้อักษรไทยคำว่า กุ๊กหรืออักษรโรมันคำว่า COOK หรือใช้อักษรไทยและอักษรโรมันดังกล่าวรวมกัน ประเภทหนึ่ง และเป็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้ม มีอักษรไทยคำว่ากุ๊ก อยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์ตามเอกสารหมาย จ.16 กับเครื่องหมายการค้ารูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้ม มีอักษรไทยคำว่า กุ๊ก และอักษรโรมันคำว่า COOKอยู่รวมกันบนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์ตามเอกสารหมาย จ.17 อีกประเภทหนึ่ง ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 เป็นอักษรไทยและอักษรโรมัน คำว่า บิกกุ๊ก Big Cook แฟตกุ๊ก Fat Cook และมาสเตอร์กุ๊ก Master Cook ตามลำดับ โดยจัดรูปตัวอักษรให้อักษรไทยอยู่ด้านบนของอักษรโรมัน และไม่มีรูปพ่อครัวประดิษฐ์อยู่ด้วยแต่ประการใด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์ มีอักษรโรมัน คำว่า COOk และหรืออักษรไทยคำว่ากุ๊ก อยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์แล้ว เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์นั้นอย่างชัดแจ้ง ไม่เหมือนหรือคล้ายกันแต่อย่างใด และเมื่อได้เปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ของจำเลบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่ใช้อักษรไทย คำว่า กุ๊ก หรืออักษรโรมันคำว่า COOk หรืออักษรไทยและอักษรโรมันดังกล่าวรวมกันแล้ว ก็เห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยคำว่า บิกกุ๊ก Big Cook และแฟตกุ๊ก Fat Cook เป็นคำ2 พยางค์ คำว่า มาสเตอร์กุ๊ก Master Cook เป็นคำ 3 พยางค์และการจัดตัวอักษรของคำดังกล่าว นั้นได้จัดให้อักษรไทยอยู่ด้านบนอักษรโรมัน โดยอักษรไทยมีขนาดใหญ่กว่าอักษรโรมันเพียงเล็กน้อย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นคำพยางค์เดียว โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้อักษรไทยและอักษรโรมันรวมกันนั้นจัดตัวอักษรให้อักษรไทยมีขนาดใหญ่กว่าอักษรโรมันมากและจัดให้อักษรโรมันอยู่บนพยัญชนะตัว “ก” ตัวที่ 2 ในระดับเดียวกับวรรณยุกต์ไม้ตรี นอกจากนั้นแล้ว ลักษณะการจัดตัวอักษรโรมันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยก็ยังแตกต่างกันอีกด้วยโดยตัวอักษรโรมันของโจทก์มีขนาดเท่ากันทุกตัว ส่วนตัวอักษรโรมันของคำว่า Big Cook และ Fat Cook กับ Master Cookของจำเลยใช้อักษรตัวพิมพ์เล็ก คงใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เฉพาะตัว “B” “C”และ “F” “C” กับ “M” “C” ในแต่ละคำตามลำดับเท่านั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวจึงแตกต่างกันไม่เหมือนหรือคล้ายกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิผูกขาดในการใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า กุ๊ก และ/หรือ COOK การที่จำเลยนำคำว่ากุ๊ก และ/หรือ Cook ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความแพร่หลายในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดมีคำว่ากุ๊ก และคำว่า “Cook” เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า ซึ่งคำดังกล่าวเป็นคำเดียวกันกับคำที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่คำว่า กุ๊ก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง พ่อครัวทำกับข้าวฝรั่ง และคำดังกล่าวก็เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำอักษรโรมันว่าCOOK ซึ่งเป็นคำสามัญที่มีคำแปลตามพจนานุกรม คำดังกล่าวจึงเป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวและหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้ จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 นั้นได้ และเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า บิกกุ๊ก Big Cook แฟตกุ๊ก Fat Cookและมาสเตอร์กุ๊ก Master Cook ของจำเลยแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.12 ของโจทก์เช่นนี้ จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ดีกว่าจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share